เนื้อหาตอนนี้ สรุปจาก บทที่ 4 ของหนังสือ Homeschooling for Success
โดยผู้ก่อตั้งเว็บไซค์โฮมสคูลของอเมริกา
ชื่อบอกแล้วว่า โฮมสคูลเพื่อความสำเร็จ
เนื้อหาตอนนี้เป็นเรื่องว่าด้วย การโฮมสคูลเด็กเล็กตั้งแต่เกิดถึงอายุ 12 ปี
หากว่าลูกของคุณอยู่วัยก่อนเข้าอนุบาลแล้วละก็ คำถามที่่ควรถามตัวเองไม่ใช่ว่า ควรจะดูแลหรือสอนลูกเองไหม แต่ควรถามว่า ควรทำต่อไปเลยดีไหม เพราะแม้แต่ครอบครัวที่ไม่เคยโฮมสคูลก็ต้องช่วยเหลือสนับสนุนเด็กในการเรียน ทำการบ้าน ช่วยอ่านหรือหาหนังสืออยู่แล้ว และการสอนที่บ้านก็ไม่ได้แตกต่าง แต่ในหลายกรณี การช่วยเหลือสนับสนุนต่างๆ ที่ว่านี้ทำได้ง่ายกว่าเมื่อลูกเข้าโรงเรียนมาก
ข้อดีของการ HS เด็กเล็ก
1. จากการสำรวจครอบครัวที่ HS ส่วนใหญ่ ตอบว่า "เวลา" เป็นข้อดีอันดับหนึ่ง แทนที่จะปล่อยลูกไปตั้งแต่อายุห้าขวบ (ในอเมริกา/แคนาดา อนุบาลเริ่มห้าขวบ) หรือ ตั้งแต่พอเริ่มตั้งไข่ได้ (ในเมืองไทย) ด้วยการให้เด็กไปโรงเรียน เด็กที่ได้อยู่บ้านจะได้ใช้เวลากับคนที่เขารักเพื่อค่อยๆ สร้างสายสัมพันธ์เข้มแข็งกับพ่อแม่ พี่น้อง
2. เด็กเล็กจำนวนมากที่อาจจะอยู่ไม่ค่อยนิ่งนั้น พ่อแม่สามารถจะจัดกิจกรรมให้เขาได้ใช้พลังงานเต็มที่ซึ่งดีกว่าการถูกบังคับให้นั่งนิ่งๆ ในโรงเรียนอนุบาล เด็กเล็กโดยปกติชอบเคลื่อนไหวอยู่แล้วฉะนั้นก็ควรมีอิสระที่ได้เล่นและเรียนรู้ตามธรรมชาติได้เต็มที่ แม้โรงเรียนอนุบาลบางแห่งจะพยายามให้เด็กเล่น ทว่า เวลาส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องให้เด็กนั่งนิ่งๆ อยู่ดี เด็กควรมีโอกาสได้สำรวจวิธีหลากหลายในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะจากการเล่น การปีนป่าย และจากธรรมชาติ เป็นต้น
3. ดร.แมทธิว เจมส์ที่ปรึกษาของเว็บไซค์โฮมสคูลดอทคอม แนะนำว่า พ่อแม่ควรสอนลูกเองในวัยเล็ก แม้ว่าคุณจะวางแผนส่งเขาไปโรงเรียนเมื่อโตขึ้นก็ตาม เพราะนี่คือ การวางรากฐานที่มั่นคงให้เพื่อต่อยอดต่อไป
4. เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กเป็นเหมือนเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสทุกด้าน การทดลอง การเคลื่อนไหว การสัมผัส เห็น ฟัง ดมกลิ่น นี่คือเวลาที่เด็กเก็บข้อมูลจากโลกรอบตัว เพื่อทำความเข้าใจว่า โลกอันใหญ่โตนี้มันคืออะไร บ้านเรียนเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจโลกด้วยวิธีและความช้าเร็วของตัวเด็กเอง
สิ่งสำคัญที่ต้องจำก็คือว่า มีการเรียนรู้อีกมากมายที่ไม่ต้องมีคนสอน เพราะมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติยังไงล่ะ
ตามธรรมชาติ เด็กเล็กจะถูกดึงดูดเข้าหากิจกรรมตัวเองที่ชอบและทำได้ดี (ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน)
เช่น ลูกจำอะไรได้ดีถ้าได้เดินไปรอบๆ ห้องหรือเปล่า ลูกชอบขีดเขียนไหม หรือ ดูแล้วธรรมชาติจะเป็นนักสร้าง เอานั่นมาผสมนี่ แสดงความสนใจในศิลปะหรือกีฬา หรือ การอ่านค่อนข้างสม่ำเสมอไหม ( ลูกชายคนแปลชอบจับหนังสือพลิกเล่นตั้งแต่ยังเดินไม่ได้และจุดแข็งก็คือ การอ่านหนังสือจริงๆ ด้วย!)
เด็กชอบแสดงสิ่งที่ตัวเองรู้ผ่านอะไร ผ่านการเขียน การพูด หรือ การสร้าง (ตัวต่อ โมเดลหรืออะไรก็ได้)
คนเราเรียนรู้ด้วยวิธีต่างๆ กัน และอาจเหมือน คล้าย หรือต่างจากพ่อ แม่ก็ได้ด้วย!
ทดลองใช้สื่อหลายๆ รูปแบบ จะได้รู้จักธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก อาจเปลืองเงินบ้างในช่วงแรกแต่นี่คือ สิ่งที่ควรทำ สังเกตลูกแล้วคุณจะรู้จักว่า เขาเป็นคนแบบไหน ชอบอะไรและเรียนรู้ได้ดีที่สุดด้วยวิธีไหน
นี่คือ สิ่งที่มีคุณประโยชน์มหาศาลต่ออนาคตการเรียนรู้ของลูกคุณ
สอนอ่าน - ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม
ขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่เชื่อว่าควรสอนการอ่าน การเขียนและคณิตศาสตร์เป็นเรื่องเป็นราว เป็นทางการตั้งแต่เข้าอนุบาล คือ ยิ่งเร็วยิ่งดี แต่ครอบครัว HS ส่วนใหญ่เชื่อว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม คือ สอนจริงจังเมื่ออายุเจ็ดปีขึ้นไป ดร.เรมอนด์และโดโรธี มัวร์ เป็นนักวิชาการผู้เขียนหนังสือเรื่อง Better Late Than Early สรุปในงานวิจัยว่า แท้จริงแล้ว ความพร้อมของเด็กในการเรียนอย่างเป็นทางการ ในทางจิตวิทยานั้นจะเริ่มเมื่ออายุแปดถึงสิบปี!จึงแนะว่า ควรรอให้เด็กได้เติบโตด้านวุฒิภาวะและมีทักษะการใช้เหตุผลที่จำเป็นสำหรับการเรียนอย่างทางการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความหงุดหงิด หรือ ความเครียด รวมถึง การเสียกำลังใจ ความมั่นใจจากการที่ต้องทำสิ่งที่ตัวเองยังไม่พร้อมจะเข้าใจเลย
จากสถิติพบว่า การเรียนอ่าน เขียนตอนอายุเจ็ดปีหรือหลังจากนั้นไม่นานก็จะอ่าน เขียนได้ทันเด็กที่ถูกเร่งให้เริ่มก่อน มีตัวอย่างที่แม่พยายามสอนลูกอายุสี่ขวบให้เริ่มจำตัวอักษรและอ่าน แต่เด็กยังจำไม่ได้แม้แต่เสียงพยัญชนะ เนื่องจากแม่เข้าใจว่า เขายังไม่พร้อมก็เลยอ่านนิทานก่อนนอนทุกคืนวันละหนึ่งชั่วโมง และเด็กคนนี้เมื่ออายุเจ็ดปีอยู่ๆ ก็เกิดหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านและอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว! ต่างกับน้องสาวซึ่งขอให้แม่อ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่ห้าขวบ
การอ่านหรือการเขียนหนังสือได้ช้าในสิ่งแวดล้อมของครอบครัวโฮมสคูลจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เด็กบกพร่องแต่อย่างใด ข้อแนะนำเรื่องการอ่านนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านพบว่า ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม เด็กที่พร้อมจะเรียนอ่านมักแสดงสัญญาณต่างๆ ดังนี้
- รู้จักพยัญชนะ
- ชอบพลิกดูหนังสือต่างๆ
- รู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- รู้จักชื่อจริงและนามสกุลของตัวเองและสามารถออกเสียงได้อย่างชัดเจน
- พูดแสดงความรู้สึกนึกคิดได้คล่อง
- พูดตามเป็นประโยคที่มีคำประมาณ 6-8 คำได้
- รู้ว่าการเขียนนั้นมีข้อความเพื่อใช้สื่อสาร
- แกล้งทำเป็นอ่านหนังสือออก
- เข้าใจว่าต้องอ่านจากซ้ายไปขวา
- เข้าใจและตอบคำถามจากนิทานที่แม่อ่านหรือเล่าให้ฟังได้
- ดูรูปแล้วเล่าเรื่องได้
- เขียนชื่อตัวเองได้
ข้อแนะนำที่พ่อแม่ควรทำเพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตเป็นนักอ่านยั่งยืน ได้แก่
- อ่านให้ลูกฟังบ่อยๆ! แม้แต่วัยรุ่นก็ยังชอบฟังเรื่องสั้นสนุกๆ
- เป็นตัวอย่างที่ดี ให้ลูกได้เห็นพ่อแม่อ่านหนังสือ
- ให้เด็กอ่านหนังสือตามระดับของเขาจะทำให้สนุกที่จะอ่าน ไม่ใช่ถูกบังคับ
- เลี่ยงการสั่งให้ลูกอ่านหรืออ่านเพื่อทำการบ้าน แต่อาจจะคุยสบายๆ เรื่องหนังสือที่ลูกอ่าน
- วางหนังสือไว้ตามมุมต่างๆ ในบ้าน ในรถ ในห้องน้ำ หันไปทางไหนก็มีเล่มสองเล่มให้หยิบง่ายๆ
- ให้หนังสือเป็นของขวัญหรือรางวัล
นอกจากนี้ ให้เด็กๆ ได้เข้าห้องสมุดหรือร้านหนังสือเพื่อเลือกเอง
แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กมากๆ พ่อแม่ก็ช่วยเลือกให้
แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กมากๆ พ่อแม่ก็ช่วยเลือกให้
อย่าลืมว่าแม้ลูกจะอ่านเองได้แล้ว ก็ยังควรอ่านด้วยกันต่อไป เพราะเวลานี้มีคุณค่ามากกว่าการแค่ช่วยให้ลูกอ่านหนังสือออก แต่คือ การสร้างความทรงจำที่ดีร่วมกันและเป็นรากฐานให้เด็กกลายเป็นนักอ่านยั่งยืนไปตลอดชีวิตค่ะ
Credit: Homeschooling for Success