Tuesday, September 20, 2016

โฮมสคูล ตอน อยากสอนให้ลูกเก่ง เริ่มยังไงดี




ตอนนี้ สรุปเนื้อหาจากบทที่ 7 ในหนังสือ Homeschooling For Success 

     ชื่อบทว่า Finding Your Child's Special Genius ซึ่งนัยว่า

 เด็กทุกคนมีอัจฉริยภาพในตัวเอง งานของพ่อแม่ คือ ช่วยหาให้เจอด้วย 


Image result for film maker kid

เมื่อช่วงต้นยุค 1950s  เด็กผู้ชายคนหนึ่งอยากจะได้รางวัลแถบติดเสื้อลูกเสือเพิ่มจากรร. เลยคิดจะทำกิจกรรมถ่ายหนัง พ่อก็ซื้อกล้องถ่ายวิดีโอที่เรียกว่า ซุปเปอร์ 8 ให้ เสร็จแล้วก็พลันเกิดไอเดียอยากถ่ายหนังสยองขวัญแบบนองเลือด แม่ก็เลยบอกว่า งั้นเดี๋ยวต้มเชอร์รีกระป๋องให้ สีแดง ข้นๆ เหมือนเลือด  ยืนต้มหมดไปสามสิบกว่ากระป๋อง.....

ไม่กลัว ลูกทำเลอะ ไม่ได้บ่นว่างานยุ่งไม่มีเวลา หรือ ไล่ให้ไปทำอย่างอื่นที่ง่ายกว่านี้ไหม 
แต่พ่อแม่กระโจนลงไปช่วยเต็มตัว ย้ายเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เพื่อจะมีที่ถ่ายหนัง
 ช่วยทำฉาก หาเสื้อผ้านักแสดง แถมแม่ยังช่วยแสดงด้วยอีกต่างหาก..อุตส่าห์
พาขับรถไปหาทะเลทรายเพื่อเข้าฉาก.....เรื่องนี้แม่เล่าต่อมาอีกหลายสิบปี

 เพราะลูกชายชื่อ สตีเว่น สปีลเบิร์ก......

                             

   พอจะเห็นภาพบ้างแล้วรึยังคะ...


หนังสือเล่มนี้พูดถึงสไตล์การเรียนรู้ของเด็ก ความสนใจ อัจฉริยภาพ ความสามารถพิเศษ 

และความรักหลงใหลในสิ่งต่างๆ เยอะแยะเต็มไปหมด แต่ตอนนี้ลองลืมเรื่อง ความสำเร็จ ก่อน 



Image result for baby

     ลองนึกถึงภาพตอนที่ลูกเพิ่งเกิด..

  ตอนที่คุณมองดูทารกคนนี้ 
          
  ตั้งแต่เส้นผมจนถึงนิ้วเท้าเล็กๆ 





สิ่งที่คุณคิด คือ เด็กคนนี้เป็นคนพิเศษจริงๆ 

ใช่!  เด็กมีความพิเศษในตัวเอง 

สิ่งที่พ่อแม่ควรต้องทำ ก็คือ จัดการศึกษาให้ลูกในแบบที่เห็นถึงความพิเศษเฉพาะตัวเขา  

โดยเริ่มต้นที่..
             
                    การค้นหาสไตล์การเรียนรู้ของเด็ก! 


ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า  สไตล์การเรียนรู้ ไม่ใช่ ความฉลาด (Intelligence) 

สไตล์การเรียนรู้ คือ วิธีการว่าเด็กรับรู้ข้อมูลต่างๆ อย่างไร เป็นวิธีการเฉพาะตัวตั้งแต่เกิด 

ไม่เปลี่ยนแปลง 


ส่วน ความฉลาด คือ สิ่งต่างๆ ที่เด็กรู้ ซึ่งเปลี่ยนแปลง ขยายเพิ่มเติมไปตลอดชีวิต


สไตล์การเรียนรู้เป็นเหมือนประตูธรรมชาติที่เด็กใช้เปิดเพื่อเข้าสู่โลกแห่งกระบวนการเรียนรู้

ถ้าพ่อแม่เข้าใจว่าประตูบานไหนเหมาะกับลูก...ก็จะช่วยเปิดประตูการเรียนรู้ได้กว้างและดียิ่งขึ้น

สังเกตและค้นหาว่า ประตูไหนที่เหมาะกับลูก แล้วพูดคุยกับลูกเรื่องนี้...เพื่อว่า

 เด็กจะเลือกสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่เหมาะกับสไตล์การเรียนรู้ของเขาเองได้...


             นี่คือ การสร้างพื้นฐานให้ลูกกลายเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learner) 

โดยพื้นฐาน สไตล์การเรียนรู้มี 3 แบบ ได้แก่ 

auditory (ฟังเสียง) visual (มองเห็น) และ kinesthetic (จับต้อง)  

กลุ่ม auditory  เรียนรู้ได้ดีจากการฟังและการพูดคุย ชอบฟังเพลง เข้าใจเวลาฟังขั้นตอน หรือ ชอบฟังเรื่องเล่า เวลาฟังนิทานจะกระตือรือร้น อยากถามแทรกเพราะรอจนจบแทบไม่ไหว 


กลุ่ม kinesthetic  เรียนรู้ได้ดีจากการสัมผัส จับต้องและเคลื่อนไหวร่างกาย ชอบจับต้องทุกสิ่งอย่างที่สนใจ ชอบสร้าง ชอบทดลองทำสิ่งต่างๆ โดยใช้มือ (hands-on learner) สนุกเวลาได้สำรวจของจริงจากสิ่งที่เรียน ได้จับต้อง ทดลอง 


กลุ่ม visual  เรียนรู้ได้ดีจากการมองเห็นและการสังเกต นึกภาพสิ่งที่กำลังเรียนรู้ได้ในหัวและมักคิดอะไรเป็นภาพ ถ้าถามเรื่องที่กำลังสนใจอยู่ ก็มักจะเล่าไม่ถนัดต้องหยิบกระดาษ ดินสอมาวาดให้ดู มีจินตนาการภาพชัดเจนและมักเห็นภาพในหัวก่อนที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ มีแรงบันดาลใจจากการอ่าน การเขียน งานศิลปะและสื่อจำพวกกราฟทั้งหลาย (คนแปลก็เพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็น visual) 



            Image result for visual learner

              "สังเกตว่าโดยธรรมชาติแล้ว ลูกชอบทำอะไร หรือ 
                                อะไรที่มักดึงดูดความสนใจ" 

เช่น ลูกสาวชอบนั่งฟังคุณแม่อ่านนิทาน ชอบฟังเพลงหรือฮัมเพลงบ่อยๆ   เวลาฟังพ่อแม่แล้วเข้าใจ และสื่อสารกลับมาได้ดีไหม... ถ้าประมาณนี้ ก็น่าจะเป็นกลุ่ม auditory 

หรือ ลูกชายอาจจะชอบสร้าง เล่นดินน้ำมัน ต่อเลโก้ได้นานๆ  ชอบใช้มือและร่างกายเคลื่อนไหว ไม่ชอบอยู่นิ่งนานๆ ชอบเต้น ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย   อย่างนั้นก็น่าจะเป็นกลุ่ม kinesthetic

ลูกไม่ค่อยอดทนนั่งฟังอะไรได้นานๆ ไหม หรือ เผลอแป๊บๆ ก็คว้ากระดาษ ดินสอมาวาดรูป เป็นเรื่องเป็นราว ชอบจ้องมองดูภาพที่สนใจ และมักมองอะไรมานั่งดูเล่นประจำ ถ้าใช่ก็น่าจะเป็น visual พวกคิดอะไรเป็นภาพ 
(ลูกชายคนแปลชอบบาสเก็ตบอล ขอดูคลิป NBA ทุกวันแล้วเลียนแบบ ชอบลองหลับตาชู้ตลูกบาสเพราะจำภาพได้ว่า ห่วงอยู่ตรงไหน ) 


               "ลูกมักจะเข้าไปหา หรือ เรียนรู้สิ่งที่สนใจอย่างไร  

                    จับต้อง มองดู หรือ ฟังเสียง" 


เมื่อพอได้คำตอบแล้ว ก็ใช้ความรู้นี้ เวลาที่อยากให้ลูกเรียนรู้สื่อ หรือ ทักษะใหม่ๆ 

หาอุปกรณ์และกิจกรรมการเรียนรู้วิชาต่างๆ ให้เหมาะสมกับสไตล์การเรียนรู้ของลูก 

และเมื่อประตูบานเก่งเปิดออก...เราจะเห็นลูกวิ่งเข้าไปสู่ทุ่งกว้างแห่งการเรียนรู้อย่างมีความสุขค่ะ  





Image result for kinesthetic learning




Credit: Homeschooling for Success 


ตอนต่อไป เป็นเรื่องการค้นหาและส่งเสริมอัจฉริยภาพของลูกกันค่ะ  
  

Friday, September 16, 2016

โฮมสคูล ตอน จัดระเบียบบ้านก่อนเตรียมลุย!

สิ่งที่คนมักจะคิดถึงโฮมสคูล คือ การเรียน
แต่ที่มักมองข้ามไป ก็คือ การจัดระเบียบบ้าน


ถ้า คุณกำลังสอนลูกที่บ้าน คุณก็กำลังใช้ "บ้าน" เพื่อเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและโรงเรียนย่อมๆ
ซึ่งหมายถึงว่า ข้าวของเครื่องใช้จะมากขึ้นด้วย 
           
การจัดระเบียบทั้งบ้านและชีวิตจึงเป็นสิ่งท้าทายและจำเป็น! 

ต่างกับครอบครัวที่ส่งเด็กไปโรงเรียน พ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน 
ครอบครัวบ้านเรียนใช้บ้านเพื่ออยู่ เพื่อเรียนและบางครั้งเพื่อทำงานอีกต่างหาก 


Image result for activity table for homeschooler

การจัด 
มุมต่างๆ ในบ้านเพื่ออุทิศให้กับเด็ก เช่น มุมอ่านหนังสือ 

โต๊ะทดลองวิทยาศาสตร์หรือทำงานศิลปะเป็นสิ่งจำเป็นทั้งกับเด็กและคนในบ้าน

การจัดบ้านให้เรียบร้อยไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะความสะดวกสบาย 
ต่ดีกับจิตใจและการเรียนรู้ของเด็กด้วย

อย่างไรก็ตาม  

"การจัดบ้านควรสะท้อนถึงความจำเป็นและสิ่งที่เราให้ความสำคัญ"


 คำแนะนำในการจัดบ้านสำหรับครอบครัวโฮมสคูลจาก OrganizedHome.com และ About.com สรุปได้ดังนี้ค่ะ 


  •  ลดมาตรฐานในใจลงก่อนเลย! เพราะคุณไม่ได้จัดบ้านเพื่ออวดใคร เน้นเฉพาะสิ่งที่สำคัญๆ เช่น มีพื้นที่สอนลูก เรื่องไหนไม่สำคัญก็ปล่อยไปบ้าง เราไม่ใช่ซุปเปอร์แมนค่ะ การวุ่นวายกับเรื่องจุกจิกตลอดเวลาไม่ดีแน่ๆ 

  • วางแผนทำงานบ้านไว้ด้วย ทำกับข้าว กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า อาจมีตารางคร่าวๆ ให้ชีวิตไม่ยุ่งยากและจัดการได้ทุกวัน อะไรที่ต้องทำเอง อะไรที่ลูกช่วยได้ก็ให้ช่วย เช่น ทำอาหารเช้าง่ายๆ เป็นต้น 

Image result for teen cooking
  • ให้ลูกช่วย อย่าคิดว่า ภาระการโฮมสคูลและการดูแลทุกเรื่องในบ้านต้องเป็นเราอย่างเดียวค่ะ ในความเป็นจริง ลูกมีเวลามากกว่าเรา เด็กควรเรียนรู้จากการเริ่มดูแลตัวเองก่อน เด็กโตควรช่วยดูแลน้องได้ เด็กวัยรุ่นควรออกไปซื้อของให้แม่ และจ่ายบิลต่างๆ ได้ เด็กทุกวัยเริ่มหัดพับผ้าของตัวเองได้ด้วย!  บ้านที่จัดระบบเรื่องนี้จะโฮมสคูลได้ราบรื่น

  • จัดบ้านเรียบร้อยก่อนเริ่มกิจกรรมการเรียน สอนให้เด็กรู้จัก "เริ่มต้นวันใหม่" ด้วยการพับผ้าห่มให้เรียบร้อย ช่วยเก็บบ้าน และจัดการตัวเองให้เรียบร้อยก่อน เพราะหลังจากนั้น คุณจะไม่ต้องพะวงกับสิ่งเหล่านี้อีก

  • กำจัดขยะ สิ่งใดที่ไม่ได้ใช้มาพักใหญ่ เช่น สองเดือนขึ้นไป ควรส่งต่อให้คนอื่นหรือทิ้งเสีย หนังสือ อุปกรณ์การเรียนก็ด้วย ถ้าลูกไม่ใช้แล้ว คุณอาจขายต่อหรือบริจาคได้


  • จัดที่สำหรับทุกสิ่ง เช่น ชั้นวางอุปกรณ์ศิลปะ ตู้หนังสือ บางบ้านแจกกล่องให้ลูกแต่ละคนแยกกัน บางบ้านแยกของตามวิชา สื่อที่เป็นพวกแฟลชคาร์ด กระดาษ ดินสอพู่กัน ควรเก็บใส่กล่องที่หยิบใช้ง่ายและทำให้ไม่รกสายตา

    Image result for activity table for homeschooler
  • ใช้กล่องใสเพื่อเก็บพวกเกมส์ หรือตัวต่อเลโก้ เพื่อให้มองเห็นง่ายว่าอยู่ตรงไหน

  • ตั้งเวลาให้สมเหตุสมผล กับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะทำงานบ้าน เรียนหรือทำธุระ จำไว้ว่า คุณมีเวลาไม่ต้องเร่งรีบเพราะกลัวว่าจะทำอะไรไม่ทัน









  • จัดพื้นที่เพื่อโฮมสคูลไว้เลย อาจจะมีห้องหนึ่งในบ้านหรืออุทิศโต๊ะใหญ่สักตัว เลือกส่วนที่เงียบและมีแสงสว่างมากพอ มีที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ให้หยิบง่าย 

    • เลือกช่วงเวลาในการทำ 3 R ( คือ reading การอ่าน, writing การเขียนและ arithmetic คณิตศาสตร์) ที่เด็กรู้สึกสดชื่นตื่นตัว ถ้าเป็นไปได้ควรทำกิจกรรมเหล่านี้ตัวต่อตัว ถ้ามีเด็กโตกับเด็กเล็ก อาจเลือกสอนเด็กโตตอนที่เด็กเล็กนอนหลับกลางวัน หรือ แยกกันเงียบๆ คนละมุมก็ได้ 

    • สุดท้าย ยืดหยุ่นค่อย่าปล่อยให้ตารางหรือแผนที่เขียนไว้ทำให้เครียด เพียงใช้แผนเป็นแนวทางคร่าวๆ เพื่อให้ชีวิตประจำวันราบรื่น รีแลกซ์และมีความสุขสนุกสนานกับทั้งตัวเองและลูกๆ นะคะ  


                             " จัดบ้านให้ดีกับสมองและจิดใจปลอดโปร่งได้อย่างไร เชิญชมคลิปได้ค่ะ "
               

    Tuesday, August 23, 2016

    โฮมสคูลเด็กเล็ก อะไร เมื่อไหร่ อย่างไร


    เนื้อหาตอนนี้ สรุปจาก บทที่ 4 ของหนังสือ Homeschooling for Success
    โดยผู้ก่อตั้งเว็บไซค์โฮมสคูลของอเมริกา
    ชื่อบอกแล้วว่า โฮมสคูลเพื่อความสำเร็จ

    เนื้อหาตอนนี้เป็นเรื่องว่าด้วย การโฮมสคูลเด็กเล็กตั้งแต่เกิดถึงอายุ 12 ปี

    หากว่าลูกของคุณอยู่วัยก่อนเข้าอนุบาลแล้วละก็ คำถามที่่ควรถามตัวเองไม่ใช่ว่า ควรจะดูแลหรือสอนลูกเองไหม  แต่ควรถามว่า ควรทำต่อไปเลยดีไหม เพราะแม้แต่ครอบครัวที่ไม่เคยโฮมสคูลก็ต้องช่วยเหลือสนับสนุนเด็กในการเรียน ทำการบ้าน ช่วยอ่านหรือหาหนังสืออยู่แล้ว และการสอนที่บ้านก็ไม่ได้แตกต่าง แต่ในหลายกรณี การช่วยเหลือสนับสนุนต่างๆ ที่ว่านี้ทำได้ง่ายกว่าเมื่อลูกเข้าโรงเรียนมาก




    ข้อดีของการ HS เด็กเล็ก

    1. จากการสำรวจครอบครัวที่ HS ส่วนใหญ่ ตอบว่า "เวลา" เป็นข้อดีอันดับหนึ่ง แทนที่จะปล่อยลูกไปตั้งแต่อายุห้าขวบ (ในอเมริกา/แคนาดา อนุบาลเริ่มห้าขวบ) หรือ ตั้งแต่พอเริ่มตั้งไข่ได้ (ในเมืองไทย) ด้วยการให้เด็กไปโรงเรียน เด็กที่ได้อยู่บ้านจะได้ใช้เวลากับคนที่เขารักเพื่อค่อยๆ สร้างสายสัมพันธ์เข้มแข็งกับพ่อแม่ พี่น้อง

    2.  เด็กเล็กจำนวนมากที่อาจจะอยู่ไม่ค่อยนิ่งนั้น พ่อแม่สามารถจะจัดกิจกรรมให้เขาได้ใช้พลังงานเต็มที่ซึ่งดีกว่าการถูกบังคับให้นั่งนิ่งๆ ในโรงเรียนอนุบาล เด็กเล็กโดยปกติชอบเคลื่อนไหวอยู่แล้วฉะนั้นก็ควรมีอิสระที่ได้เล่นและเรียนรู้ตามธรรมชาติได้เต็มที่ แม้โรงเรียนอนุบาลบางแห่งจะพยายามให้เด็กเล่น ทว่า เวลาส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องให้เด็กนั่งนิ่งๆ อยู่ดี เด็กควรมีโอกาสได้สำรวจวิธีหลากหลายในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะจากการเล่น การปีนป่าย และจากธรรมชาติ เป็นต้น


    3. ดร.แมทธิว เจมส์ที่ปรึกษาของเว็บไซค์โฮมสคูลดอทคอม แนะนำว่า พ่อแม่ควรสอนลูกเองในวัยเล็ก แม้ว่าคุณจะวางแผนส่งเขาไปโรงเรียนเมื่อโตขึ้นก็ตาม เพราะนี่คือ การวางรากฐานที่มั่นคงให้เพื่อต่อยอดต่อไป


    เขาสอนลูกๆ ที่บ้านวันละหนึ่งชั่วโมงทุกวันตั้งแต่อนุบาลถึงเกรดหก จากนั้นลูกๆ ก็เข้า รร. และสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงอย่าง Stanford ได้ เขาเชื่อว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากการมีพื้นฐานแข็งแกร่งจากครอบครัว รวมถึงการเลี่ยงการผจญกับความกดดันจากสังคมตอนอายุน้อยๆ แต่ประสบสิ่งเหล่านี้ เมื่อเข้ามัธยมแล้วซึ่งเด็กๆ มีวุฒิภาวะมั่นคงพอจะจัดการปัญหาต่างๆ ได้เองเป็นอย่างดี

    4. เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กเป็นเหมือนเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสทุกด้าน การทดลอง การเคลื่อนไหว การสัมผัส เห็น ฟัง ดมกลิ่น นี่คือเวลาที่เด็กเก็บข้อมูลจากโลกรอบตัว เพื่อทำความเข้าใจว่า โลกอันใหญ่โตนี้มันคืออะไร บ้านเรียนเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจโลกด้วยวิธีและความช้าเร็วของตัวเด็กเอง



    เมื่อเด็กสนใจจะอ่านหนังสือ เขาจะอ่านเมื่อพร้อม และมีโอกาสดีๆ ที่จะได้จับต้อง ทดลองสิ่งต่างด้วยๆ ตัวเอง ซึ่งการนั่งบนเก้าอี้ในห้องเรียนไม่มีให้

    สิ่งสำคัญที่ต้องจำก็คือว่า มีการเรียนรู้อีกมากมายที่ไม่ต้องมีคนสอน เพราะมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติยังไงล่ะ
    เด็กหญิงวัย 6 ขวบคนหนึ่งสนใจเสือชีต้าซึ่งได้กลายเป็นสนใจดูภาพในหนังสือ และพยายามจะอ่านเรื่องชีต้า กลายเป็นการรู้เรื่องโครงกระดูกของเสือ ซึ่งก็พัฒนาไปถึงการเรียนรู้เรื่องถิ่นอาศัย และความจริงว่าเสือชีต้ากำลังลดจำนวนลง ( การอ่าน ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม มารวดเดียวจากความสนใจเรื่อง ชีต้า! )



    เด็กเล็กเรียนรู้อย่างไร

    ตามธรรมชาติ เด็กเล็กจะถูกดึงดูดเข้าหากิจกรรมตัวเองที่ชอบและทำได้ดี (ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน)
    ฉะนั้น ถ้าอยากรู้ว่าลูกถนัดหรือมีจุดแข็งด้านไหน ก็ต้องอาศัยการสังเกตกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กสนใจในชีวิตประจำวัน


    เช่น ลูกจำอะไรได้ดีถ้าได้เดินไปรอบๆ ห้องหรือเปล่า ลูกชอบขีดเขียนไหม หรือ ดูแล้วธรรมชาติจะเป็นนักสร้าง เอานั่นมาผสมนี่ แสดงความสนใจในศิลปะหรือกีฬา หรือ การอ่านค่อนข้างสม่ำเสมอไหม ( ลูกชายคนแปลชอบจับหนังสือพลิกเล่นตั้งแต่ยังเดินไม่ได้และจุดแข็งก็คือ การอ่านหนังสือจริงๆ ด้วย!) 
    เด็กชอบแสดงสิ่งที่ตัวเองรู้ผ่านอะไร ผ่านการเขียน การพูด หรือ การสร้าง (ตัวต่อ โมเดลหรืออะไรก็ได้) 

    คนเราเรียนรู้ด้วยวิธีต่างๆ กัน และอาจเหมือน คล้าย หรือต่างจากพ่อ แม่ก็ได้ด้วย!

    ทดลองใช้สื่อหลายๆ รูปแบบ จะได้รู้จักธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก อาจเปลืองเงินบ้างในช่วงแรกแต่นี่คือ สิ่งที่ควรทำ สังเกตลูกแล้วคุณจะรู้จักว่า เขาเป็นคนแบบไหน ชอบอะไรและเรียนรู้ได้ดีที่สุดด้วยวิธีไหน
    นี่คือ สิ่งที่มีคุณประโยชน์มหาศาลต่ออนาคตการเรียนรู้ของลูกคุณ




    สอนอ่าน - ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

    ขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่เชื่อว่าควรสอนการอ่าน การเขียนและคณิตศาสตร์เป็นเรื่องเป็นราว เป็นทางการตั้งแต่เข้าอนุบาล คือ ยิ่งเร็วยิ่งดี แต่ครอบครัว HS ส่วนใหญ่เชื่อว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม คือ สอนจริงจังเมื่ออายุเจ็ดปีขึ้นไป ดร.เรมอนด์และโดโรธี มัวร์ เป็นนักวิชาการผู้เขียนหนังสือเรื่อง Better Late Than Early สรุปในงานวิจัยว่า แท้จริงแล้ว ความพร้อมของเด็กในการเรียนอย่างเป็นทางการ ในทางจิตวิทยานั้นจะเริ่มเมื่ออายุแปดถึงสิบปี! 
    จึงแนะว่า ควรรอให้เด็กได้เติบโตด้านวุฒิภาวะและมีทักษะการใช้เหตุผลที่จำเป็นสำหรับการเรียนอย่างทางการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความหงุดหงิด หรือ ความเครียด รวมถึง การเสียกำลังใจ ความมั่นใจจากการที่ต้องทำสิ่งที่ตัวเองยังไม่พร้อมจะเข้าใจเลย

    จากสถิติพบว่า การเรียนอ่าน เขียนตอนอายุเจ็ดปีหรือหลังจากนั้นไม่นานก็จะอ่าน เขียนได้ทันเด็กที่ถูกเร่งให้เริ่มก่อน มีตัวอย่างที่แม่พยายามสอนลูกอายุสี่ขวบให้เริ่มจำตัวอักษรและอ่าน แต่เด็กยังจำไม่ได้แม้แต่เสียงพยัญชนะ เนื่องจากแม่เข้าใจว่า เขายังไม่พร้อมก็เลยอ่านนิทานก่อนนอนทุกคืนวันละหนึ่งชั่วโมง และเด็กคนนี้เมื่ออายุเจ็ดปีอยู่ๆ ก็เกิดหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านและอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว! ต่างกับน้องสาวซึ่งขอให้แม่อ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่ห้าขวบ



    การอ่านหรือการเขียนหนังสือได้ช้าในสิ่งแวดล้อมของครอบครัวโฮมสคูลจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เด็กบกพร่องแต่อย่างใด ข้อแนะนำเรื่องการอ่านนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านพบว่า ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม เด็กที่พร้อมจะเรียนอ่านมักแสดงสัญญาณต่างๆ ดังนี้
    • รู้จักพยัญชนะ
    • ชอบพลิกดูหนังสือต่างๆ
    • รู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย
    • รู้จักชื่อจริงและนามสกุลของตัวเองและสามารถออกเสียงได้อย่างชัดเจน
    • พูดแสดงความรู้สึกนึกคิดได้คล่อง
    • พูดตามเป็นประโยคที่มีคำประมาณ 6-8 คำได้
    • รู้ว่าการเขียนนั้นมีข้อความเพื่อใช้สื่อสาร
    • แกล้งทำเป็นอ่านหนังสือออก
    • เข้าใจว่าต้องอ่านจากซ้ายไปขวา
    • เข้าใจและตอบคำถามจากนิทานที่แม่อ่านหรือเล่าให้ฟังได้
    • ดูรูปแล้วเล่าเรื่องได้
    • เขียนชื่อตัวเองได้

    ข้อแนะนำที่พ่อแม่ควรทำเพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตเป็นนักอ่านยั่งยืน ได้แก่
    • อ่านให้ลูกฟังบ่อยๆ! แม้แต่วัยรุ่นก็ยังชอบฟังเรื่องสั้นสนุกๆ
    • เป็นตัวอย่างที่ดี ให้ลูกได้เห็นพ่อแม่อ่านหนังสือ
    • ให้เด็กอ่านหนังสือตามระดับของเขาจะทำให้สนุกที่จะอ่าน ไม่ใช่ถูกบังคับ
    • เลี่ยงการสั่งให้ลูกอ่านหรืออ่านเพื่อทำการบ้าน แต่อาจจะคุยสบายๆ เรื่องหนังสือที่ลูกอ่าน
    • วางหนังสือไว้ตามมุมต่างๆ ในบ้าน ในรถ ในห้องน้ำ หันไปทางไหนก็มีเล่มสองเล่มให้หยิบง่ายๆ
    • ให้หนังสือเป็นของขวัญหรือรางวัล
    Image result for reading corner


    นอกจากนี้ ให้เด็กๆ ได้เข้าห้องสมุดหรือร้านหนังสือเพื่อเลือกเอง 
    แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กมากๆ พ่อแม่ก็ช่วยเลือกให้
    อย่าลืมว่าแม้ลูกจะอ่านเองได้แล้ว ก็ยังควรอ่านด้วยกันต่อไป เพราะเวลานี้มีคุณค่ามากกว่าการแค่ช่วยให้ลูกอ่านหนังสือออก แต่คือ การสร้างความทรงจำที่ดีร่วมกันและเป็นรากฐานให้เด็กกลายเป็นนักอ่านยั่งยืนไปตลอดชีวิตค่ะ


    Credit: Homeschooling for Success











    Sunday, July 31, 2016

    โฮมสคูลตอนที่4: Homeschool Styles


    จากช่วงสำรวจการโฮมสคูลตอนที่แล้ว มาตอนนี้เริ่มสำรวจลึกลงไปอีกว่า


    ตกลงสไตล์ของ HS นี้มันมีกี่แบบกันแน่ และแต่ละแบบต่างกันอย่างไร


    อ่านแล้วอาจจะได้เห็นแนวทางที่ใช่ หรือ อาจจะเข้าใจแนวทางของตัวเองเพิ่มขึ้นได้ค่ะ

    แบบแรก คือ School-at-Home คือ แบบที่คนนึกภาพทั่วไปนั่นเอง ใช้บ้านเป็นที่เรียน มีหลักสูตรที่ใช้ อุปกรณ์การเรียนครบครัน มีตำรา มีตาราง มีการสอบและเก็บข้อมูล บางครอบครัวซื้อหลักสูตรมาแต่บางคนก็ทำแผนการสอนและเลือกหนังสือ สื่อการสอนแบบที่ถนัด ข้อดีคือ ควบคุมได้ว่าจะสอนอะไร เมื่อไหร่ ข้อด้อย คือ วิธีเรียนแบบนี้คนจัดการเหนื่อยหน่อย เพราะบางบทเรียนเนื้อหาก็ไม่น่าสนุก


    แบบที่ 2 คือ Unit Studies หรือภาษาไทยเรียกว่าเรียนเป็นโครงงาน แต่เด็กเป็นคนเลือกหัวข้อโครงงานเองตามความสนใจ พ่อแม่อาจมีนำเสนอบ้างแล้วให้เด็กเลือก เช่น สนใจแมลง บทเรียนทุกวิชาก็ผูกจากเรื่องแมลง เลข ภาษา วิทย์ สังคม และอื่นๆ ข้อดีคือว่า คนเราจะเรียนรู้ได้ดีถ้าเป็นเรื่องที่สนใจ ข้อด้อยก็คือ บางทีพ่อแม่ลุ้นเกิน ลูกแสดงความสนใจอะไรไม่ได้ จับมาเป็นความรู้หมด เด็กก็แอบเกร็งเพราะแค่อยากเล่น ไม่ได้อยากเรียนเป็นเรื่องเป็นราว






    แบบที่ 3 คือ Relax/Eclectic Homeschooling หมายถึง พวกจับนั่นผสมนี่ ไม่เครียด  ใช้หนังสือแบบฝีกหัดเลข อ่าน สะกดคำ แต่วิชาอื่นก็อาจจะปล่อยให้เรียนรู้เองแบบเดียวกับ unschool ข้อดี คือ ให้อิสระพ่อแม่เลือกหนังสือตำราที่ชอบ ทัศนศึกษาหรือชั้นเรียนนอกบ้านตามถนัด ข้อเสียไม่มีเพราะชื่อบอกแล้วว่า Relax!






    แบบที่ 4 คือ unschooling สไตล์นี้มีนิยามว่า ให้ธรรมชาติของเด็กและความสนใจนำพาไป เรียนจากชีวิตประจำวัน ไม่มีตาราง เรียนแนวเดียวกับผู้ใหญ่ คือ สนใจก็ลงมือค้นคว้า ศึกษา ทำให้เชี่ยวชาญ John Holt อธิบายว่า การใช้ชีวิตกับการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แยกกัน การบอกว่าเด็กต้องอยู่ตรงนั้นเพื่อเรียน อยู่ตรงนี้เพื่อใช้ชีวิต ก็คงไม่ใช่ เพราะเด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

    คนที่เลือกสไตล์นี้ มีความเชื่อมั่นในการให้อิสระกับเด็ก เชื่อว่าเด็กมีความสามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้ของตัวเองได้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ฝืน ในกลุ่มที่ใช้สไตล์นี้เองก็มีแตกไปอีก เช่น บางคนเพียงไม่ใช้หลักสูตรอะไรเลย บางคนก็เรียนจากการใช้ชีวิตประจำวัน แต่คนเขียนให้นิยามว่า มันคือการให้เด็กเป็นคนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตัวเอง และเรียนจากสิ่งรอบตัว มุ่งที่ตัวเองสนใจและความถนัด อิสระที่จะเรียนรู้ 

    ข้อดี คือ เด็กได้เลือกหัวข้อ สิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดได้ มีเวลาพัฒนาต่อยอดได้ ข้อด้อย คือ ถ้าเด็กจะต้องสอบหรือกลับเข้าเรียนในระบบ จะปรับตัว
    ได้ยาก






    แบบที่ 5 Classical School เริ่มตั้งแต่สมัยยุคกลาง มุ่งสอนให้เด็กรู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเอง  และมีเครื่องมือการเรียนรู้ 5 อย่าง ได้แก่ การใช้เหตุผล บันทึก วิจัย เชื่อมโยงและสื่อสาร แบ่งการเรียนรู้เป็นขั้นๆ ในทุกวิชา เช่น เด็กเล็ก ก็เรียนรู้พวกพื้นฐานอ่าน เขียน ต่อมาก็ค่อยเริ่มศึกษาวิจัย ขั้นสูงสุดคือ การสื่อสาร อาจจะเป็นอภิปราย โน้มน้าว

    แบบที่ 6 The Charlotte Mason Method เชื่อการเคารพในตัวเด็กและการเรียนรู้จากชีวิตจริง ตารางเรียนก็ให้มีเวลาเล่น สร้างสรรค์และเกี่ยวข้องกับสถานการณ์จริงที่เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ กลุ่มนี้จะพาลูกไปตามพิพิธภัณ เดินป่า ดูนก เรียกว่าเน้นเรียนจากของจริง






    แบบที่ 7 The Work/Study/Service Method สไตล์นี้ผู้ริเริ่มคือ เรมอนด์และโดโรธี มัวร์ ซึ่งถือเป็นเจ้าปู่เจ้าย่าแห่งโฮมสคูล มีความเชื่อว่าตารางทุกวันจะต้องประกอบด้วยกิจกรรม 3 อย่าง คือ เรียนก่อนจะไม่กี่นาทีหรือหลายชม.แล้วแต่ จากนั้นทำกิจกรรมที่ใช้มือทำ ให้ใช้เวลาเท่ากับอย่างแรก สุดท้าย ออกไปรับใช้สังคม วันละอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง เด็กที่ทำตามสไตล์นี้โตขึ้นได้รับทุนเรียนต่อจากมหาวิทยาลัยชื่อดังมากมาย 

    แบบที่ 8 The Waldorf Method มาจาก Rudolf Steiner ให้ความสำคัญกับการศึกษาองค์รวม ร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เน้นศิลปะ ดนตรีและการเคลื่อนไหว รวมถึงธรรมชาติ เด็กโตจะเน้นการรู้จักตนเองและการหาเหตุุผลเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆเอง ไม่ใช้หนังสือตำราเรียน แต่ทำหนังสือเรียนเอง (เก๋ดีนะคะ) ไม่นิยมให้เด็กดูทีวีหรือคอมพิวเตอร์เนื่องจากเชื่อว่า เป็นอันตราย


    แบบที่ 9 Montessori อันนี้ก็เป็นที่นิยมในกลุ่ม HS คล้ายๆ แบบที่ 8 เชื่อเรื่อง "การเรียนรู้ไม่มีคำว่า ผิด" เด็กเรียนตามความพร้อมของแต่ละคน ไม่เร่ง ไม่รีบ ค่อยพัฒนาไป เน้นห้องโล่งๆ ไม่มีของเยอะวุ่นวาย เน้นของธรรมชาติพวกตัวต่อไม้ และเน้นการเก็บเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่นิยมทีวีและคอมพิวเตอร์ 
    ส่วนมากแล้ว สไตล์นี้เหมาะกับเด็กเล็ก แม้ว่าจะมีสื่อให้ใช้ถึงระดับมัธยมปลาย แต่พ่อแม่มักใช้กับเด็กเล็กมากกว่า


    แบบที่ 10 Multiple Intelligence ความคิดเริ่มต้นโดย Howard Gardner จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดผู้โด่งดัง (อาจารย์ของหนูดี วนิษา เรซนั่นล่ะค่ะ) เชื่อว่า คนเรามีอัจฉริยภาพหลายด้านและแตกต่างกัน การเรียนรู้ที่ดีที่สุดมาจากการใช้จุดแข็งหรือด้านที่เราถนัด ไม่ใช่จุดอ่อน เมื่อปรับใช้กับ HS จึงหมายถึง การสังเกตจุดแข็ง สไตล์การเรียนรู้ของเด็กว่าเป็นแบบไหน แล้วจัดสื่อ วิธีการเรียน ตารางในแต่ละวันให้เข้ากับสิ่งนั้น เช่น บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการใช้ร่างกาย สัมผัสจับ ขีดเขียน มากกว่าการอ่านหรือฟัง เช่่น ลูกชายของคนเขียน ก็จะชอบวาดรูป เล่นตัวต่อไปด้วยและฟังซีดีเล่านิทาน ต่างกับลูกสาวซึ่งถนัดการอ่านและแสดงความเห็นด้วยการเขียน เป็นต้น   




    Credit: Homeschooling for Success



    Saturday, July 9, 2016

    บทที่ 3 โฮมสคุลปีแรกต้องรู้อะไรบ้าง


          คำถาม ยอดฮิตของคนเริ่มทำโฮมสคูล ก็คือ จะเริ่มยังไงดี?! 
    คุณอาจได้ยินสิ่งต่างๆ นี้มาบ้างแล้ว             
    • เรื่องเอกสาร ขั้นตอนตามระเบียบกฎหมาย
    • บอกกล่าวญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง (น่ากลัวมาก!!) 
    • หากลุ่มครอบครัวโฮมสคูลไปเข้าร่วมกิจกรรม
    • ทำงบประมาณตกแต่งบ้าน ซื้อหนังสือ อุปกรณ์เพื่อใช้ หรือ ทำห้องเรียน 
                 แต่ข่าวดี ก็คือว่า การเริ่มต้นไม่ยากอย่างที่พ่อแม่หลายคนนึกภาพไว้

           และทั้งหมดข้างต้นนี้...ยังไม่ต้องกังวล!

    ปีแรก ของการทำ HS  


    สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ


     วิถีชีวิตและสิ่งที่ครอบครัวต้องการจริงๆ เช่น

    ตอนนี้ลูกไป รร. และคุณรู้สึกว่า อยากจัดการเรียนรู้ของลูกให้แตกต่าง / ดีกว่าที่เป็นใช่ไหม ยังไง

    ถ้าจะโฮมสคูล จะต้องปรับช่วงเวลาทำงานหรือเปล่า

    ลูกเป็นเด็กพิเศษ และคุณต้องการความช่วยเหลือ ในเรื่องแผนการเรียนรู้เป็นพิเศษไหม ยังไง

    ลูกโตพอจะดูแลการเรียนรู้ของตัวเองได้มากแค่ไหน


    ข้อดีของโฮมสคูล คือ สิ่งเหล่านี้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความจำเป็นของแต่ละบ้านได้ ไม่ว่าจะเรื่องการเงิน สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย อาชีพการงานของพ่อแม่ รวมถึงความสนใจ และสิ่งที่เด็กต้องการ


                                การทำ HS ปีแรก แบ่งการเตรียมตัวเป็น 8 หัวข้อย่อย ดังนี้


    หัวข้อแรก : ช่วงสำรวจ



            ข่าวดี เมื่อคุณคิดจะโฮมสคูล คุณไม่จำเป็นจะต้องกระโจนเข้าใส่ ไม่ต้องกลัวจะทำอะไรไม่ทัน ไม่ต้องกลัวจะเสียเวลา ระยะนี้กินเวลาได้ถึง 6 เดือน เพื่อทำอะไร

    1. รู้จักกันอีกครั้ง ถ้าลูกเคยไปโรงเรียนมาก่อนและเปลี่ยนมาทำโฮมสคูล คุณต้องให้เวลาตัวคุณและลูกได้รู้จักคุ้นเคยกันอีกครั้ง นี่เป็นเวลาที่ทั้งครอบครัวควรผ่อนคลาย ไปเที่ยว นั่งเล่น พูดคุย ทำกิจกรรมสบายๆ ที่คุณและลูกชอบด้วยกัน เพื่อสังเกตและรู้จักสิ่งที่ลูกสนใจ


    2. นี่คือเวลา หาความรู้เรื่องโฮมสคูลของคุณเอง หนังสือ บทความ เข้ากลุ่ม เตรียมตัว เราอ่านหนังสือ ลูกก็อาจจะหาหนังสือที่ชอบนั่งอ่านด้วยกัน หรือ ไปทำกิจกรรมเพื่อหาเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ ดูก็ได้ อย่าลืมว่า นี่คือ เวลาที่เด็กควรได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เมื่อเด็กผ่อนคลายไม่กังวล 
    เมื่อถึงเวลาที่ต้องเรียนรู้ เขาจะพร้อมแน่นอน


    3. อย่ากังวลว่าลูกจะพลาดอะไรไป อย่าคิดว่าเสียเวลา เพราะคุณไม่เพียงจะให้เวลาตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและสติปัญญาเท่านั้น แต่กำลังสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ลูก เพื่อการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตด้วย 


    4. สร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัย่าลืมว่า ถ้าลูกเคยไปโรงเรียนมาก่อน ทั้งคุณและลูกจะต้องปรับตัวในการเจอกันทุกวันต่อไปเมื่อโฮมสคูล ใช้เวลาระยะแรก มีความสุขร่วมกัน ไปเที่ยวสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ 
    ทำสิ่งที่สนใจด้วยกัน!
                                        
    5.  สำรวจหนังสือ สื่อ อุปกรณ์การเรียน ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ คุณไม่ต้องแต่งบ้าน หรือ ซื้อสารานุกรมเป็นตั้งๆ ช่วงนี้ เป็นการสำรวจว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ยังไม่ต้องซื้ออะไรทั้งนั้น!!!!
    จนกว่าคุณจะรู้แน่นอนว่า ลูกสนใจอะไร และ พร้อมจะเรียนรู้เรื่องอะไรในปีแรก เห็นหรือยังว่า ข้อ 1 สำคัญแค่ไหน ปัจจุบันนี้ มีหลักสูตรมากมาย หนังสือเป็นร้อยเล่ม ยังค่ะ ยังไม่ต้องซิ้ออะไรทั้งสิ้น




        

        คาถา " ไล่ความกังวล  " 

    1. ครอบครัวโฮมสคูลเพอร์เฟคไม่มีอยู่จริง! 

    ไม่มีพ่อแม่ หรือ เด็ก HS คนไหนสมบูรณ์แบบ (โรคซุปเปอร์มัมตกยุคไปนานมากแล้ว อย่าพยายามจะเป็นโรคนี้อีกเลย)




    2. ไม่มีครูคนไหนในโลกที่จะอุทิศตัวเพื่อความสำเร็จของลูกไปมากกว่าคุณ


    3. คุณไม่ต้องรวย ไม่ต้องมีคนรับใช้ ไม่ต้องอดทนเป็นเลิศเหมือนแม่ชีเทเรซ่า 

        ไม่ต้องจบครุศาสตร์ก็โฮมสคูลลูกได้ 

    4. พ่อแม่ ญาติ เพื่อนฝูงจะแวะมาดูอยู่รอบๆ แน่นอน และวันนึง คุณจะแปลกใจเมื่อคนที่เคยคัดค้านกลายเป็น คนที่ชื่นชมในสิ่งที่คุณทำให้ลูก 


    5. เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาจะไม่มาเคาะประตูบ้าน และแจ้งจับข้อหาสอนลูกที่บ้านหรอก ค่อยๆ จัดการเรื่องเอกสารและกฏหมายไปตามวิถึทาง อย่าเครียด


    6. ความสนใจ ใส่ใจแบบตัวต่อตัวที่ลูกได้รับ แม้จะวันละ 1-2 ชั่วโมง หรือ คราวละหลายนาทีตลอดวัน มีค่าและความหมายไกลกว่า การเรียนทั้งวันที่โรงเรียนของลูก


    7. ถ้าลูกเรียนกับติวเตอร์ คอร์สออนไลน์ หรือ เข้าโรงเรียนสอนพิเศษบ้างเมื่อโฮมสคูล คุณก็จะเห็นว่า เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพราะเขาจะแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ให้คุณฟัง เตรียมตัวเป็นหุ้นส่วนสำคัญในชีวิตลูกนะคะ 


    8. เด็กที่เคยโฮมสคูลมีมากมายทั่วโลก และตอนนี้ พวกเขาก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อย่าห่วงเลย แม้แต่เด็กที่ไม่เคยเข้ารั้วโรงเรียนเลยในชีวิต ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและประสบความสำเร็จได้โฮมสคูลไม่ใช่ตัวเลือกที่แย่เลยซักนิดค่ะ :) 







                                

    เครดิต: เรียบเรียงจากหนังสือ Homeschooling For Success 

         
                     

    Tuesday, July 5, 2016

    คำถาม เรื่องโฮมสคูล ตอนที่ 2



            ถ้า คุณมีคำถาม หรือ ยังลังเล เรื่อง โฮมสคูล แล้วละก็ ควรจำไว้ว่า

    มีคนที่เป็นเหมือนคุณมากมาย.....และต่อไปนี้ คือ
              
                  คำถาม คำตอบที่พบบ่อยเรื่อง หลักสูตร



    คำถาม    เราจะรู้ได้ยังไงว่าต้องสอนอะไรบ้าง และ สอนเมื่อไหร่

    คำตอบ   สิ่งที่ต้องคิดถึงก่อน ก็คือ คุณวาดอนาคตไว้อย่างไร เช่น ถ้าไม่คิดที่จะกลับเข้าระบบโรงเรียนปกติแล้วละก็ ( หมายถึง ประถมจนจบมัธยม ) จะสอนอะไร เมื่อไหร่ ไม่ใช่สิ่งที่ควรกังวล เป้าหมายที่ต้องทำ คือ สร้างการเรียนรู้ให้เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า สนุก น่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้เด็กรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตตังหาก

    แต่ถ้าคุณมองว่า อาจจะกลับเข้าระบบโรงเรียน คำถามที่ต้องคิด ก็คือ โรงเรียนแบบไหน?
    โรงเรียนรัฐบาล   เอกชน   สองภาษา  นานาชาติ หรือ ไปต่างประเทศ รวมถึงสไตล์ด้วย มอนเตสเซอร์รี่ วอลดอร์ฟ?  เพราะหลักสูตรที่โรงเรียนแต่ละแบบสอนก็ต่างกัน เมื่อคุณมีภาพคร่าวๆ ก็ค่อยไปค้นข้อมูลดูเพื่อเป็นแนวทางสอนลูกต่อไป



    คำถาม    จำเป็นไหมที่เราต้องใช้หลักสูตร

    คำตอบ    ใช่และไม่ใช่  การโฮมสคูลมีหลากหลายแบบขึ้นกับสไตล์และวิถีชีวิตที่เหมาะกับแต่ละครอบครัว บางครอบครัวชอบที่จะเลือกใช้หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง เพราะรู้สึกว่ามีแนวทางให้ตามและเช็คความก้าวหน้าได้ รวมถึงบางหลักสูตรจะมีข้อสอบให้วัดระดับ แต่บางครอบครัวก็ไม่ชอบใช้เพราะรู้สึกว่า ทำให้เกิดข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม มีหลายครอบครัวที่เริ่มต้นด้วยหลักสูตรเพื่อสร้างความมั่นใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่ก็มีความมั่นใจที่จะสอนเอง อาจจะเพราะเริ่มเห็นว่า ลูกมีความถนัด ความสนใจ รวมถึงสไตล์การเรียนรู้แบบไหนนั่นเอง ไม่มีอะไรดีกว่า ดูว่าอะไรที่เหมาะสมกว่าเท่านั้นเอง

    สิ่งที่สำคัญที่คนมองข้าม คือ ไม่ว่าจะใช้หลักสูตรหรือไม่ก็ตาม คุณควรสังเกตสไตล์การเรียนรู้ของลูกว่า เป็นแบบไหน เช่น ถ้าเด็กมีแนวโน้มเป็น Visual Learner แต่คุณใช้สื่อที่เป็นเสียงก็อาจจะไม่ช่วย เวลาและการสังเกตจะช่วยแนะแนวทางให้คุณเลือกสื่อที่เหมาะเอง ใจเย็นๆ






    คำถาม   ถ้ามีลูกมากกว่า 1 คน จะสอนยังไงดี

    คำตอบ   ก่อนอื่นต้องเปลี่ยนคำว่า สอน (teach) ให้เป็น อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ (facilitate) ซึ่งบทบาทต่างกัน การเป็นผู้อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ คุณไม่ต้องสอน แต่มีหน้าที่ จัดเตรียมบรรยากาศการเรียนรู้ อุปกรณ์ สื่อต่างๆ เกมส์ ให้เด็กๆ เรียนรู้ด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด คุณเป็นเพียงคนแนะแนวทาง ช่วยตอบคำถาม หาหนังสือ จัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้เด็กๆ ทำกิจกรรมด้วยกัน และ เรียนรู้จากกันและกันได้

    ถ้ามีลูกคนนึงที่โตกว่า ก็อาจจะให้มีเวลาอ่านนิทานให้น้องเล็กฟัง จัดกิจกรรมที่เป็นไปในทางเดียวกันได้ด้วย เช่น เวลาอ่าน เด็กๆ สามารถอ่านหนังสือที่ชอบเองได้ เป็นต้น



    คำถาม   จะโฮมสคูลเด็กพิเศษหรือเด็กไอคิวสูงมากได้ไหม

    คำตอบ   จริงๆ แล้วโฮมสคูลเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดกับเด็กกลุ่มนี้ เด็กพิเศษ รวมไปถึงเด็กพิการทางสายตา การได้ยินและอื่นๆ ซึ่งการสอนเองที่บ้านเป็นการสอนตัวต่อตัว เด็กสามารถมีเวลาค่อยๆ พัฒนาทักษะต่างๆที่จำเป็นได้โดยไม่เครียด มีครอบครัวที่สอนอักษรเบรลให้ลูกเอง หรือเด็กไอคิวสูงก็มีเวลาได้ศึกษาลงลึกในสิ่งที่สนใจได้จริงๆ เต็มที่ เด็กบางคนเรียนบางวิชาในระดับสูงกว่าอายุมากๆ ได้และไม่ต้องรอจนถึงเกรดไหนก่อนแล้วค่อยได้เรียน เด็กไอคิวสูงมากๆในระบบโรงเรียน หากครูไม่ใส่ใจจริงแล้ว ก็จะเบื่อที่ต้องเรียนเรื่องที่ทำได้แล้ว



    คำถาม  อยากโฮมสคูลมากแต่จะบอกสามี/ภรรยา หรือ ญาติที่ไม่เห็นด้วยอย่างไร

    คำตอบ  การบอกคนที่ไม่เห็นด้วย หรือ ไม่รู้เรื่องโฮมสคูล บางครั้งก็เหมือนการโยนระเบิดต่อหน้าตัวเอง คุณจะโดนคำถามมากมายแน่นอนทั้งจากญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนบ้าน
    สิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันได้ คือ ความรู้ หาหนังสือ บทความต่างๆ เกี่ยวกับโฮมสคูลมาอ่านให้มากที่สุด หากลุ่มคนที่โฮมสคูล พูดคุยแลกเปลี่ยน เพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง





    คนเรามักจะกลัวสิ่งที่เราไม่รู้จักเสมอ คุณมีหน้าที่อธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงอยากทำ ข้อดีรวมถึงสถิติต่างๆ ถ้าเป็นไปได้ พาสามี/ภรรยาหรือญาติไปพบปะกลุ่มโฮมสคูลดูก็จะดี แต่ถ้าทำทุกวิธีแล้ว คุณอาจจะขอเวลาเพื่อทดลองสักแค่ระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1 ปี แล้วค่อยประเมินความสุขของลูกและความมั่นใจของตัวเอง   การทดลองเช่นนี้จะลดความเครียดของคุณได้ด้วย

    และถ้าลูกเองก็ยังไม่แน่ใจ การพูดคุยกันแบบตรงไปตรงมากับเด็กเป็นวิธีที่ดีที่สุด พูดกับลูกถึงวิธีคิดของคุณ ฟังสิ่งที่ลูกคิดและช่วยกันหาวิธีการเรียนที่ลูกจะสนุก เพราะเป้าหมายก็คือ การได้รับความร่วมมือจากลูกเพื่อให้เค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

             การทำโฮมสคูล คนที่สำคัญที่สุดคือ ลูกของคุณเอง หาใช่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านไม่
       
             เมื่อคนเข้าใจ บางครั้งคนที่เคยต่อต้าน กลับกลายเป็นผู้สนับสนุนโฮมสคูลที่ดีก็มีเหมือนกัน



    คำถาม   เด็กที่เรียนโฮมสคูลจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้หรือไหม


    คำตอบ  ในอเมริกา แคนาดาและอีกหลายประเทศ ใช้เกณฑ์ที่เป็นข้อสอบชื่อต่างๆกัน เช่น SAT, ACT และมีการสัมภาษณ์ก่อนรับ ดูแฟ้มประวัติ จากสถิติเด็กโฮมสคูลสอบวัดระดับได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเด็กทั่วไป แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยมองหากลับเป็นวุฒิภาวะ ความรับผิดชอบ ความสนใจและ Portfolio หรือแฟ้มสะสมงานต่างๆ รวมถึง การเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเด็กที่โฮมสคูลมักจะมีองค์ประกอบเหล่านี้สุงกว่าเด็กในระบบโรงเรียน สิ่งที่ควรทำเก็บไว้ก็คือ แฟ้มสะสมงานที่ลูกสนใจทำ เช่น งานศิลปะ ภาพถ่าย บทความ เรื่องสั้น ดนตรี กีฬาและอื่นๆ


    ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องตัวอย่าง โฮมสคูลแต่ละแบบและตารางการโฮมสคูลแต่ละวันค่ะ


    เครดิต : Homeschooling For Success

     

    Wednesday, June 29, 2016

    บทที่ 2 คำถามที่คนถามบ่อย เรื่องโฮมสคูล (ตอนที่ 1)

    ถ้าคุณติดตามบล็อกนี้ ก็แปลว่า คุณสนใจเรื่องโฮมสคูล ไม่ว่าจะแค่อยากรู้ อยากทำ หรือ กำลังทำอยู่

    เป็นเรื่องปกติที่เราจะสงสัย เช่น โฮมสคูลนี่มีแยกประเภทไหม แล้วเด็กจะเข้าสังคมเป็นไหม
       เรียนแบบนี้แล้วจะต่อมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ และอื่นๆ

    ข้อมูลย่อๆ ของโฮมสคูลในสหรัฐอเมริกา
    • HS ถูกกฎหมายในทุกรัฐทั่วประเทศ 
    • ในปัจจุบันมีครอบครัวประมาณ 2 ล้านครอบครัวที่ทำโฮมสคูล
    • ค่าใช้จ่ายต่อปี อยู่ระหว่าง 500-2000  $ ต่อเด็กหนึ่งคน 
    • บางรัฐจะมีเงินช่วยสนับสนุนครอบครัวที่ทำโฮมสคูล 
    • เด็กที่โฮมสคูลตามสถิติแล้วพบว่า ทำคะแนนในข้อสอบด้านวิชาการได้สูงกว่าเด็กทั่วไปทั้งในรร.รัฐและเอกชน 
    • ในการประเมินด้านทักษะทางสังคม พบว่าเด็กที่โฮมสคูลทำได้ในระดับดี 
    • คุณทำงานไปด้วย ทำโฮมสคูลไปด้วยก็ได้ 
    • แม้จะเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวก็โฮมสคูลลูกได้ 

    Guess!!  บุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้มีอะไรเอ่ยที่เหมือนกัน? 


    Duane "Digger" Carey   นักบินอวกาศ
    วงดนตรีป๊อบ  Hanson
    Venus and Serena Williams  สองพี่น้องนักเทนนิสอันดับหนึ่งของโลก
    Garth Brooks   นักร้องชื่อดัง
    Aaron Fessler   นักธุรกิจที่ขายกิจการ Allegro ไปด้วยมูลค่า 55 ล้านเหรียญ
    Rick Santorum  วุฒิสมาชิกสภาสหรัฐจากรัฐเพนซิลวาเนีย
    LeAnn Rimes    นักร้องเพลงคันทรี่ชื่อดัง 


         เฉลย ทุกคนที่กล่าวถึงนี้ ถ้าตัวเองไม่ได้เป็นเด็กโฮมสคูลมาก่อน ก็กำลังโฮมสคูลลูกของตัวเองอยู่




    คำถามพบบ่อย 


    ข้อแรก โฮมสคูลคืออะไร 


    คำตอบ  ทางเลือกทางการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายที่สุดในปัจจุบัน สไตล์การทำมีหลายแบบขึ้นกับแต่ละบ้าน บางคนก็เลียนแบบโรงเรียน บางคนก็ "un-school" ซึ่งเป็นวิธีทำที่ไม่ยึดติดกับโครงสร้างใดๆแต่ขึ้นกับความสนใจและความพร้อมของเด็กเป็นสำคัญ 
    แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะครึ่งๆ หมายถึง มีโครงสร้างและขึ้นกับความสนใจของเด็ก 
    การเข้าถึงเช่นนี้ทำให้พ่อแม่สามารถเลือกการเรียนและสื่อทีเหมาะกับเด็กได้ 
    บางครั้งก็จะเรียนกันเป็นกลุ่ม เช่น มีติวเตอร์มาช่วย พ่อแม่รวมกลุ่มช่วยกันสอน มีการเรียนด้านกีฬา มีอาสาสมัครและอื่นๆ                  


    สอง ครอบครัวแบบไหนที่เลือกทำโฮมสคูล 

    คำตอบ แม้ว่าภาพพจน์ของพ่อแม่โฮมสคูลอาจเป็นพวกฮิปปี้ อินดี้ หรือไม่ก็เคร่งศาสนา (มีกฎระเบียบของบ้านเคร่งครัด) หรือ ต้องเก่งมากๆ แต่จริงๆแล้ว คนที่ทำโฮมสคูลก็คือ คนปกติทั่วไปที่ต้องการจัดการศึกษาของลูกเอง มาจากทุกที่ในเมือง ชนบท มีทุกสาขาอาชีพ หมอ ครู พนักงาน บางบ้านก็เคร่งศาสนา บางบ้านก็ไม่มีความเชื่อเรื่องศาสนา สรุปแล้ว เขาก็คือคนธรรมดาเหมือนคุณนั่นแหล่ะ 


     ข้อสาม ทำไมคนถึงเลือกทำโฮมสคูล

    คำตอบ มีหลากหลาย ในสมัยก่อนเป็นเหตุผลด้านศาสนา พ่อแม่ต้องการสอนเรื่องความเชื่อทางศาสนาให้ลูก (ครอบครัวที่นับถือคริสต์มักจะเน้นการสอนไบเบิ้ลให้ลูก และมักใช้หลักสูตรที่มีพื้นฐานความเชื่อของศาสนา)  แต่ในสมัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิชาการและความห่วงเรื่องอิทธิพลด้านลบในโรงเรียน เช่น ปัญหาความรุนแรง ยาเสพติดและอื่นๆ และก็อยากใช้เวลาของครอบครัวร่วมกันให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ครอบครัวที่เลือกทำโฮมสคูลมีความเชื่อเหมือนกันหนึ่งอย่าง ก็คือ เชื่อว่าตนเองสามารถจัดการศึกษาให้ลูกได้ดีกว่าที่โรงเรียนทำ 


    ข้อสี่ ทำงานไปด้วยและโฮมสคูลไปด้วยได้หรือไม่ 

    คำตอบ ได้แน่นอน แม้ว่าครอบครัวโฮมสคูลส่วนใหญ่จะมีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งที่อยู่บ้านก็ตาม แต่ก็มีครอบครัวนับหลายพันครอบครัวที่คิดหาวิธีทำงานที่เอื้อให้โฮมสคูลได้ เช่น ทำธุรกิจในครอบครัว ทำธุรกิจโดยสร้าง virtual office หรือทำงานเป็นกะ ทำงาน part-time หรือเป็นฟรีแลนซ์ เทคโนโลยีอย่างอินเตอร์เนต มือถือหรือคอมพิวเตอร์แลปท๊อปทำให้ครอบครัวยืดหยุ่นมากขึ้น ในบทต่อๆไป จะพูดถึงงานรูปแบบต่างๆที่สร้างรายได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน 



    ข้อสี่ ข้อดีและข้อเสียของโฮมสคูลมีอะไรบ้าง 

    คำตอบ ข้อดี คือ สายสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว ความยืดหยุ่นในวิธีและเวลาของการเรียน เด็กได้เรียนรู้ในสถานการณ์จริงนอกห้องเรียน สิ่งนี้ส่งผลให้เด็กรู้จักตัวเอง สิ่งที่สนใจและสไตล์การเรียนของตัวเอง 

    ข้อเสียที่มีคนตอบกลับมาในเว็บไซค์โฮมสคูลมากที่สุด คือ เรื่องของรายได้ที่พร่องลงไป นอกจากนั้นเป็นอุปสรรคที่ทำให้ความมั่นใจลดลง ทั้งความสามารถของตัวพ่อแม่เองและของลูกด้วย คำวิจารณ์จากคนอื่นๆทั้งในสังคมและครอบครัว และสุดท้ายที่ฟังดูขำๆ คือ บ้านรก อย่าลืมว่าเมื่อเด็กเรียนที่บ้าน พวกอุปกรณ์การเรียนต่างๆ จะกระจายอยู่รอบบ้าน แต่อย่าห่วงเพราะนี่เป็นสัญญาณว่าเด็กๆเรียนรู้รอบตัวเลย 




    ข้อห้า นักเรียนที่โฮมสคูลจะมีปัญหาการเข้าสังคมไหม 

    คำตอบ ถ้าคุณบอกใครว่าจะโฮมสคูลลูก คนก็มักพูดว่า "แล้วเด็กจะได้เรียนอะไรล่ะ??" 
    คุณก็จะพยายามให้ลูกรู้อะไรเยอะๆ เพื่อโชว์ว่านี่ไง เก่งกว่าเด็กในโรงเรียนอีก จากนั้น คนก็จะพูดต่ออีกว่า "แล้วจะมีสังคมได้ยังไง??" คำถามแบบนี้มีพื้นฐานมาจากความกลัวว่า เด็กไม่สามารถเรียนรู้ทักษะทางสังคมได้เลยถ้าไม่ไปโรงเรียน แต่มีข่าวดี งานวิจัยมากมายได้ศึกษาเด็กโฮมสคูลมาเป็นเวลาหลายปีและพบว่า เด็กกลุ่มนี้่มีระดับความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเอง (ถูกชักจูงจากเพื่อนรุ่นเดียวกันน้อยกว่า) มากกว่าเด็กที่ไป รร.ปกติ 



    ตอนต่อไปจะตอบคำถามเรื่องหลักสูตร การโฮมสคูลลูกมากกว่าหนึ่งคน และอื่นๆค่ะ 


    เครดิต Homeschooling For Success

    Tuesday, June 28, 2016

    บทที่ 1 โรงเรียนในอุดมคติ

                                        มองภาพโรงเรียนโดยทั่วไปก่อน 

    โรงเรียนที่จัดการศึกษาโดยภาครัฐ หรือ เอกชน (บริบทประเทศอเมริกา แต่ฟังดูเหมือนประเทศไทย) 
    ที่มีนักเรียนจำนวนมากต่อชั้น ใช้หลักสูตรมาตรฐานเดียว การศึกษาแบบนี้ออกแบบมาจากหลักการโรงงานอุตสาหกรรม  เพื่อสอนคนให้มาทำงานตามสายพาน เกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม   
    สาเหตุเพราะว่าในขณะนั้น อเมริกาต้องการคนงานหลายล้านคนเพื่อทำงานด้านการผลิตในโรงงาน  

    ดังนั้น โรงเรียนก็ต้องออกแบบเพื่อสอนให้คนทำตามคำสั่งได้ ไม่ต้องถามมากให้เสียเวลา 
    เป้าหมายการศึกษาในโลกยุคเก่า คือ การสร้างพลเมืองที่ทำอะไรตามๆ กันได้ (conformist citizen)

    แต่ในโลกยุคใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล ความคิดสร้างสรรค์และความมีเอกลักษณ์                                                 

    สมองของเราต้องการเรียนรู้มากกว่าแค่จากกระดาษแบบฝึกหัด และแค่ฟังครูยืนเลคเชอร์ สองอย่างนี้ครอบคลุม คำว่า การเรียนรู้ แค่ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

    ดร.โทมัส อาร์มสตรอง 


                     

      

     โรงเรียนในอุดมคติ ในสายตาของนักการศึกษา มีลักษณะเป็นยังไง


    ครูต้องให้ความสำคัญกับนักเรียนแต่ละคนแบบปัจเจก
    • รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน และพัฒนาการในการเรียนรู้ของแต่ละคน
    • สนใจนักเรียนแต่ละคน นักเรียนรู้สึกมีคุณค่า เกิดความมั่นใจและมีแรงจูงใจ 
    • รู้ว่าแต่ละคนควรเรียน  เพิ่มทักษะตรงไหนบ้าง
    • ต้องปกป้องนักเรียนไม่ให้ต้องถูกตำหนิวิจารณ์ เนื่องจากการต้องทำสิ่งที่เด็กยังไม่พร้อม 
    • ต้องรู้จักเรื่องราวความเป็นมาและเป็นไป ความสนใจ และเป้าหมายของนักเรียน 
     แต่ถ้านักเรียนปาเข้าไป 40 คนต่อห้อง ครูจะให้ความสำคัญกับนักเรียนแบบปัจเจกได้ยังไง


    ในโลกยุคใหม่ เด็กต้องเจอสิ่งใหม่ที่เราเองยังนึกภาพยังไม่ออก ทั้งรูปแบบธุรกิจ เทคโนโลยีใหม่ๆ

    ทักษะที่จำเป็นมาก คือ ความคิดสร้างสรรค์และการมีตัวตน มีเอกลักษณ์ของตัวเอง 
                 ทั้งในเชิงธุรกิจและการสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง





    แล้วการศึกษาแบบไหนจะช่วยให้มีทักษะเหล่านี้ได้ล่ะ 

    ไม่ใช่แบบโลกยุคเก่าที่สร้างให้คนคิดแบบเดียวกัน ทำงานซ้ำๆ
    แต่เป็นการศึกษาที่ให้คุณค่ากับคนแต่ละคนเป็นปัจเจก

    คือการเรียนที่เหมาะกับเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือ การศึกษาออกแบบเฉพาะ (customized education)



    "การศึกษาที่เห็นความสำคัญของ ความแตกต่างของมนุษย์อย่างจริงจังและมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต้องช่วยให้คนที่มีจิตใจ ความคิด ความรู้สึกหลากหลาย แตกต่างกันได้รับการพัฒนา" 


                            ดร.ฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยาแห่ง ม.ฮาวาร์ด 



                      พันธกิจของโรงเรียนในอุดมคติ

    • วิธีเรียนรู้ของเด็กไม่เหมือนกัน และสื่อการสอนจะเหมาะกับวิธีการเรียนรู้ของแต่ละคน 
    • ดู "ความพร้อมของเด็กแต่ละคน" ก่อนจะเริ่มการเรียนรู้เรื่องต่างๆ 
    • เน้นให้เด็กทำสิ่งที่ตัวเองมีความสนใจ 
    • เน้นให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือทำ 
    • เด็กๆ จะมีเวลาได้เล่นและได้ทำตัวเป็น "เด็ก" 
    • เด็กจะได้รับการส่งเสริมให้ทำสิ่งที่ตนเองรัก 
    • จะค้นหาอัจฉริยภาพ หรือ ความเก่งเฉพาะตัวของเด็กให้พบและบำรุงให้เจริญงอกงามต่อไป 

                         โรงเรียนในอุดมคติเช่นนี้ ยังไม่มี (ในอเมริกา) ในประเทศไทย 
                          แต่ครอบครัวสร้างโรงเรียนในอุดมคติแบบนี้ได้เองที่บ้าน 


    ในโลกสมัยเก่า  พ่อแม่ยังไม่มีความรู้มากและเรื่องง่ายๆ อย่างอ่านหนังสือ หรือ สุขภาพ 
    ก็มักจะต้องให้ "ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้" ช่วยอยู่เสมอ มีความกลัวเพราะไม่มีความรู้ 

    ถึงปัจจุบันนี้ สังคม (และธุรกิจต่างๆ) ก็ยังทำให้พ่อแม่ยังเชื่ออยู่ว่า  "ไม่รู้มากพอ ไม่เก่งพอ" จะสอนลูก  

    แต่ความจริงก็คือ ในปัจจุบันนี้ พ่อแม่มีความรู้มากขึ้น เรามีแหล่งข้อมูลดีๆ มากมายที่จะช่วยสอนลูก
      
              สำคัญที่สุดก็คือ เรามีสัญชาตญาณปรารถนาจะช่วยให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่างๆ 

    สถิติทางการศึกษาต่างๆ พิสูจน์แล้วว่า
    เด็กที่โฮมสคูล เมื่อกลับเข้าระบบทำคะแนนได้สูงกว่าเด็กทั่วไป 

    (ข้อมูลจากงานวิจัยของ ลอเรนซ์ รัดเนอร์ ม.แมรี่แลนด์ ปี 2000) 

               

    จงจำไว้ว่า....     คุณเป็นครูคนแรกและเป็นครูที่ดีที่สุดในชีวิตของลูก 

    เด็กทุกคนมีพรสวรรค์ ความถนัดเฉพาะตัวใช้สิ่งนี้เป็นหลักเพื่อการช่วยลูกให้บรรลุเป้าหมาย 








         


    เครดิต: Homeschooling for Success








               

    Monday, June 27, 2016

    10 เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ถ้าคิดจะโฮมสคูล



    1. การโฮมสคูล (HS) จะเปลี่ยนชีวิตของทั้งพ่อแม่และเด็ก พ่อแม่จะได้พบอัจฉริยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเอง ลูกก็เหมือนกัน ไม่มีสิ่งใดจะมีอิทธิพลต่อชีวิตครอบครัวในระยะยาวได้มากกว่าการทำ HS อีกแล้ว

    2. อยากรู้ว่าตัวเองจะทำ HS ได้ไหม?   ถ้าชอบอ่านหนังสือให้ลูกฟัง มีความสุขเวลาอยู่กับลูก ชอบเที่ยวสำรวจโลกกับลูก ตื่นเต้นเมื่อเห็นลูกเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และสำคัญสุด รักลูก
              นั่นแหละ มีคุณสมบัติพอแล้ว 



    3. ธรรมชาติของเด็กจะเรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองชอบ สนใจ เด็กจะสำรวจว่า อะไรที่สนุกแล้วก็จะเข้าไปรู้จัก ไปเล่นและเรียนรู้ จากนั้นก็นำไปสู่ความสนใจต่อไป ผู้ใหญ่เองก็เหมือนกัน เราทำแบบเดียวกันนี้แหล่ะ หลังจากเรียนจบ บ้านที่ทำ HS จะเรียนรู้ไปด้วยกันเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต



    4. ในอเมริกา HS ถูกกฎหมาย แต่ว่ากฎหมายย่อยของแต่ละรัฐก็ต่างกันไป 


    5. ไม่ต้องนับชั่วโมงทุ่มเทสอนลูกแบบ 6-8 ชม.หรอก นึกถึงเด็กที่ไปโรงเรียน เวลาส่วนมากเป็นเวลาพัก เวลานั่งเล่นรอครู ฉะนั้น ออกแบบให้เหมาะกับวิถีชีวิตของแต่ละบ้าน ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนตารางได้เสมอ อย่าถึงกับสละความสุขของครอบครัวเพื่อการ "สอน" ลูกเลย ไม่จำเป็น



    6. ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะเข้าสังคมไม่เป็น เข้ากับใครไม่ได้ เพราะขนาดเด็กที่ไป รร.พ่อแม่ก็ไม่ได้คาดหวังให้รู้จักมารยาทสังคมจากเพื่อนอายุเท่าๆกัน แต่ให้ดูตัวอย่างจากผู้ใหญ่ต่างหาก เด็ก HS มีโอกาสใกล้ชิดพ่อแม่ มีเวลาได้พูดคุย รู้จักผู้ใหญ่รอบตัวได้ 




    7. อย่ากังวลไปล่วงหน้าว่าจะสอนเคมี ฟิสิกส์ให้ลูกยังไง ดูความสนใจเด็กเป็นตัวตั้งก่อน ถ้าลูกโตพอและอยากเรียนต่อสายวิทยาศาสตร์ ก็ค่อยเรียน ถ้าสอนเองไม่ได้ ก็หาหนังสือ สื่อต่างๆ หรือ ติวเตอร์ มีทางเลือกจะเรียนเยอะ


    8. ถ้าสอนลูกไปแล้วเกิดอาการลังเล ไม่มั่นใจละก็ รู้ไว้ว่าคุณไม่ใช่คนเดียวในโลก หากลุ่มเพื่อนที่ทำ HS พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนกัน ให้กำลังใจกัน บางที ถ้ารู้สึกว่า วันๆ ลูกไม่ค่อยได้เรียนอะไรเลย เชื่อเถอะ ว่าเด็กๆ เค้าเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา


    9. อย่าไปคิดว่าจะรันทดอดอยาก ยากจน เมื่อจะโฮมสคูล มีครอบครัวอีกนับพันที่หาเงินได้เพียงพอและก็โฮมสคูลลูกไปพร้อมๆ กัน ถ้าพ่อแม่กำลังคิดสร้างธุรกิจครอบครัว หรืองานในฝัน หรือ ปรับเปลี่ยนงานที่ทำอยู่ (เพื่อจะสอนลูกเอง) ลูกจะได้เรียนรู้ทักษะที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการสร้างชีวิตอย่างที่ตัวเราเองต้องการ ด้วยการจัดสรรสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อให้สามารถทำสิ่งที่ฝันไว้ได้



    10. เชื่อในตัวลูก เพราะเค้าเกิดมาก็เรียนรู้ที่จะยิ้ม คลาน เดิน วิ่ง จนแต่งตัวเองได้ รักคนอื่นได้ด้วยตัวเค้าเองไม่ใช่เหรอ เด็กรู้จักโลกก่อนจะเข้าโรงเรียน ฉะนั้น เค้าก็จะเติบโตและก็เรียนรู้ต่อไปได้ ไม่เกี่ยวว่าจะเข้าโรงเรียนหรือเปล่า จริงไหม 









    เครดิต Homeschooling For Success