Sunday, July 31, 2016

โฮมสคูลตอนที่4: Homeschool Styles


จากช่วงสำรวจการโฮมสคูลตอนที่แล้ว มาตอนนี้เริ่มสำรวจลึกลงไปอีกว่า


ตกลงสไตล์ของ HS นี้มันมีกี่แบบกันแน่ และแต่ละแบบต่างกันอย่างไร


อ่านแล้วอาจจะได้เห็นแนวทางที่ใช่ หรือ อาจจะเข้าใจแนวทางของตัวเองเพิ่มขึ้นได้ค่ะ

แบบแรก คือ School-at-Home คือ แบบที่คนนึกภาพทั่วไปนั่นเอง ใช้บ้านเป็นที่เรียน มีหลักสูตรที่ใช้ อุปกรณ์การเรียนครบครัน มีตำรา มีตาราง มีการสอบและเก็บข้อมูล บางครอบครัวซื้อหลักสูตรมาแต่บางคนก็ทำแผนการสอนและเลือกหนังสือ สื่อการสอนแบบที่ถนัด ข้อดีคือ ควบคุมได้ว่าจะสอนอะไร เมื่อไหร่ ข้อด้อย คือ วิธีเรียนแบบนี้คนจัดการเหนื่อยหน่อย เพราะบางบทเรียนเนื้อหาก็ไม่น่าสนุก


แบบที่ 2 คือ Unit Studies หรือภาษาไทยเรียกว่าเรียนเป็นโครงงาน แต่เด็กเป็นคนเลือกหัวข้อโครงงานเองตามความสนใจ พ่อแม่อาจมีนำเสนอบ้างแล้วให้เด็กเลือก เช่น สนใจแมลง บทเรียนทุกวิชาก็ผูกจากเรื่องแมลง เลข ภาษา วิทย์ สังคม และอื่นๆ ข้อดีคือว่า คนเราจะเรียนรู้ได้ดีถ้าเป็นเรื่องที่สนใจ ข้อด้อยก็คือ บางทีพ่อแม่ลุ้นเกิน ลูกแสดงความสนใจอะไรไม่ได้ จับมาเป็นความรู้หมด เด็กก็แอบเกร็งเพราะแค่อยากเล่น ไม่ได้อยากเรียนเป็นเรื่องเป็นราว






แบบที่ 3 คือ Relax/Eclectic Homeschooling หมายถึง พวกจับนั่นผสมนี่ ไม่เครียด  ใช้หนังสือแบบฝีกหัดเลข อ่าน สะกดคำ แต่วิชาอื่นก็อาจจะปล่อยให้เรียนรู้เองแบบเดียวกับ unschool ข้อดี คือ ให้อิสระพ่อแม่เลือกหนังสือตำราที่ชอบ ทัศนศึกษาหรือชั้นเรียนนอกบ้านตามถนัด ข้อเสียไม่มีเพราะชื่อบอกแล้วว่า Relax!






แบบที่ 4 คือ unschooling สไตล์นี้มีนิยามว่า ให้ธรรมชาติของเด็กและความสนใจนำพาไป เรียนจากชีวิตประจำวัน ไม่มีตาราง เรียนแนวเดียวกับผู้ใหญ่ คือ สนใจก็ลงมือค้นคว้า ศึกษา ทำให้เชี่ยวชาญ John Holt อธิบายว่า การใช้ชีวิตกับการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แยกกัน การบอกว่าเด็กต้องอยู่ตรงนั้นเพื่อเรียน อยู่ตรงนี้เพื่อใช้ชีวิต ก็คงไม่ใช่ เพราะเด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

คนที่เลือกสไตล์นี้ มีความเชื่อมั่นในการให้อิสระกับเด็ก เชื่อว่าเด็กมีความสามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้ของตัวเองได้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ฝืน ในกลุ่มที่ใช้สไตล์นี้เองก็มีแตกไปอีก เช่น บางคนเพียงไม่ใช้หลักสูตรอะไรเลย บางคนก็เรียนจากการใช้ชีวิตประจำวัน แต่คนเขียนให้นิยามว่า มันคือการให้เด็กเป็นคนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตัวเอง และเรียนจากสิ่งรอบตัว มุ่งที่ตัวเองสนใจและความถนัด อิสระที่จะเรียนรู้ 

ข้อดี คือ เด็กได้เลือกหัวข้อ สิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดได้ มีเวลาพัฒนาต่อยอดได้ ข้อด้อย คือ ถ้าเด็กจะต้องสอบหรือกลับเข้าเรียนในระบบ จะปรับตัว
ได้ยาก






แบบที่ 5 Classical School เริ่มตั้งแต่สมัยยุคกลาง มุ่งสอนให้เด็กรู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเอง  และมีเครื่องมือการเรียนรู้ 5 อย่าง ได้แก่ การใช้เหตุผล บันทึก วิจัย เชื่อมโยงและสื่อสาร แบ่งการเรียนรู้เป็นขั้นๆ ในทุกวิชา เช่น เด็กเล็ก ก็เรียนรู้พวกพื้นฐานอ่าน เขียน ต่อมาก็ค่อยเริ่มศึกษาวิจัย ขั้นสูงสุดคือ การสื่อสาร อาจจะเป็นอภิปราย โน้มน้าว

แบบที่ 6 The Charlotte Mason Method เชื่อการเคารพในตัวเด็กและการเรียนรู้จากชีวิตจริง ตารางเรียนก็ให้มีเวลาเล่น สร้างสรรค์และเกี่ยวข้องกับสถานการณ์จริงที่เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ กลุ่มนี้จะพาลูกไปตามพิพิธภัณ เดินป่า ดูนก เรียกว่าเน้นเรียนจากของจริง






แบบที่ 7 The Work/Study/Service Method สไตล์นี้ผู้ริเริ่มคือ เรมอนด์และโดโรธี มัวร์ ซึ่งถือเป็นเจ้าปู่เจ้าย่าแห่งโฮมสคูล มีความเชื่อว่าตารางทุกวันจะต้องประกอบด้วยกิจกรรม 3 อย่าง คือ เรียนก่อนจะไม่กี่นาทีหรือหลายชม.แล้วแต่ จากนั้นทำกิจกรรมที่ใช้มือทำ ให้ใช้เวลาเท่ากับอย่างแรก สุดท้าย ออกไปรับใช้สังคม วันละอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง เด็กที่ทำตามสไตล์นี้โตขึ้นได้รับทุนเรียนต่อจากมหาวิทยาลัยชื่อดังมากมาย 

แบบที่ 8 The Waldorf Method มาจาก Rudolf Steiner ให้ความสำคัญกับการศึกษาองค์รวม ร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เน้นศิลปะ ดนตรีและการเคลื่อนไหว รวมถึงธรรมชาติ เด็กโตจะเน้นการรู้จักตนเองและการหาเหตุุผลเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆเอง ไม่ใช้หนังสือตำราเรียน แต่ทำหนังสือเรียนเอง (เก๋ดีนะคะ) ไม่นิยมให้เด็กดูทีวีหรือคอมพิวเตอร์เนื่องจากเชื่อว่า เป็นอันตราย


แบบที่ 9 Montessori อันนี้ก็เป็นที่นิยมในกลุ่ม HS คล้ายๆ แบบที่ 8 เชื่อเรื่อง "การเรียนรู้ไม่มีคำว่า ผิด" เด็กเรียนตามความพร้อมของแต่ละคน ไม่เร่ง ไม่รีบ ค่อยพัฒนาไป เน้นห้องโล่งๆ ไม่มีของเยอะวุ่นวาย เน้นของธรรมชาติพวกตัวต่อไม้ และเน้นการเก็บเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่นิยมทีวีและคอมพิวเตอร์ 
ส่วนมากแล้ว สไตล์นี้เหมาะกับเด็กเล็ก แม้ว่าจะมีสื่อให้ใช้ถึงระดับมัธยมปลาย แต่พ่อแม่มักใช้กับเด็กเล็กมากกว่า


แบบที่ 10 Multiple Intelligence ความคิดเริ่มต้นโดย Howard Gardner จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดผู้โด่งดัง (อาจารย์ของหนูดี วนิษา เรซนั่นล่ะค่ะ) เชื่อว่า คนเรามีอัจฉริยภาพหลายด้านและแตกต่างกัน การเรียนรู้ที่ดีที่สุดมาจากการใช้จุดแข็งหรือด้านที่เราถนัด ไม่ใช่จุดอ่อน เมื่อปรับใช้กับ HS จึงหมายถึง การสังเกตจุดแข็ง สไตล์การเรียนรู้ของเด็กว่าเป็นแบบไหน แล้วจัดสื่อ วิธีการเรียน ตารางในแต่ละวันให้เข้ากับสิ่งนั้น เช่น บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการใช้ร่างกาย สัมผัสจับ ขีดเขียน มากกว่าการอ่านหรือฟัง เช่่น ลูกชายของคนเขียน ก็จะชอบวาดรูป เล่นตัวต่อไปด้วยและฟังซีดีเล่านิทาน ต่างกับลูกสาวซึ่งถนัดการอ่านและแสดงความเห็นด้วยการเขียน เป็นต้น   




Credit: Homeschooling for Success



Saturday, July 9, 2016

บทที่ 3 โฮมสคุลปีแรกต้องรู้อะไรบ้าง


      คำถาม ยอดฮิตของคนเริ่มทำโฮมสคูล ก็คือ จะเริ่มยังไงดี?! 
คุณอาจได้ยินสิ่งต่างๆ นี้มาบ้างแล้ว             
  • เรื่องเอกสาร ขั้นตอนตามระเบียบกฎหมาย
  • บอกกล่าวญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง (น่ากลัวมาก!!) 
  • หากลุ่มครอบครัวโฮมสคูลไปเข้าร่วมกิจกรรม
  • ทำงบประมาณตกแต่งบ้าน ซื้อหนังสือ อุปกรณ์เพื่อใช้ หรือ ทำห้องเรียน 
             แต่ข่าวดี ก็คือว่า การเริ่มต้นไม่ยากอย่างที่พ่อแม่หลายคนนึกภาพไว้

       และทั้งหมดข้างต้นนี้...ยังไม่ต้องกังวล!

ปีแรก ของการทำ HS  


สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ


 วิถีชีวิตและสิ่งที่ครอบครัวต้องการจริงๆ เช่น

ตอนนี้ลูกไป รร. และคุณรู้สึกว่า อยากจัดการเรียนรู้ของลูกให้แตกต่าง / ดีกว่าที่เป็นใช่ไหม ยังไง

ถ้าจะโฮมสคูล จะต้องปรับช่วงเวลาทำงานหรือเปล่า

ลูกเป็นเด็กพิเศษ และคุณต้องการความช่วยเหลือ ในเรื่องแผนการเรียนรู้เป็นพิเศษไหม ยังไง

ลูกโตพอจะดูแลการเรียนรู้ของตัวเองได้มากแค่ไหน


ข้อดีของโฮมสคูล คือ สิ่งเหล่านี้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความจำเป็นของแต่ละบ้านได้ ไม่ว่าจะเรื่องการเงิน สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย อาชีพการงานของพ่อแม่ รวมถึงความสนใจ และสิ่งที่เด็กต้องการ


                            การทำ HS ปีแรก แบ่งการเตรียมตัวเป็น 8 หัวข้อย่อย ดังนี้


หัวข้อแรก : ช่วงสำรวจ



        ข่าวดี เมื่อคุณคิดจะโฮมสคูล คุณไม่จำเป็นจะต้องกระโจนเข้าใส่ ไม่ต้องกลัวจะทำอะไรไม่ทัน ไม่ต้องกลัวจะเสียเวลา ระยะนี้กินเวลาได้ถึง 6 เดือน เพื่อทำอะไร

1. รู้จักกันอีกครั้ง ถ้าลูกเคยไปโรงเรียนมาก่อนและเปลี่ยนมาทำโฮมสคูล คุณต้องให้เวลาตัวคุณและลูกได้รู้จักคุ้นเคยกันอีกครั้ง นี่เป็นเวลาที่ทั้งครอบครัวควรผ่อนคลาย ไปเที่ยว นั่งเล่น พูดคุย ทำกิจกรรมสบายๆ ที่คุณและลูกชอบด้วยกัน เพื่อสังเกตและรู้จักสิ่งที่ลูกสนใจ


2. นี่คือเวลา หาความรู้เรื่องโฮมสคูลของคุณเอง หนังสือ บทความ เข้ากลุ่ม เตรียมตัว เราอ่านหนังสือ ลูกก็อาจจะหาหนังสือที่ชอบนั่งอ่านด้วยกัน หรือ ไปทำกิจกรรมเพื่อหาเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ ดูก็ได้ อย่าลืมว่า นี่คือ เวลาที่เด็กควรได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เมื่อเด็กผ่อนคลายไม่กังวล 
เมื่อถึงเวลาที่ต้องเรียนรู้ เขาจะพร้อมแน่นอน


3. อย่ากังวลว่าลูกจะพลาดอะไรไป อย่าคิดว่าเสียเวลา เพราะคุณไม่เพียงจะให้เวลาตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและสติปัญญาเท่านั้น แต่กำลังสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ลูก เพื่อการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตด้วย 


4. สร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัย่าลืมว่า ถ้าลูกเคยไปโรงเรียนมาก่อน ทั้งคุณและลูกจะต้องปรับตัวในการเจอกันทุกวันต่อไปเมื่อโฮมสคูล ใช้เวลาระยะแรก มีความสุขร่วมกัน ไปเที่ยวสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ 
ทำสิ่งที่สนใจด้วยกัน!
                                    
5.  สำรวจหนังสือ สื่อ อุปกรณ์การเรียน ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ คุณไม่ต้องแต่งบ้าน หรือ ซื้อสารานุกรมเป็นตั้งๆ ช่วงนี้ เป็นการสำรวจว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ยังไม่ต้องซื้ออะไรทั้งนั้น!!!!
จนกว่าคุณจะรู้แน่นอนว่า ลูกสนใจอะไร และ พร้อมจะเรียนรู้เรื่องอะไรในปีแรก เห็นหรือยังว่า ข้อ 1 สำคัญแค่ไหน ปัจจุบันนี้ มีหลักสูตรมากมาย หนังสือเป็นร้อยเล่ม ยังค่ะ ยังไม่ต้องซิ้ออะไรทั้งสิ้น




    

    คาถา " ไล่ความกังวล  " 

1. ครอบครัวโฮมสคูลเพอร์เฟคไม่มีอยู่จริง! 

ไม่มีพ่อแม่ หรือ เด็ก HS คนไหนสมบูรณ์แบบ (โรคซุปเปอร์มัมตกยุคไปนานมากแล้ว อย่าพยายามจะเป็นโรคนี้อีกเลย)




2. ไม่มีครูคนไหนในโลกที่จะอุทิศตัวเพื่อความสำเร็จของลูกไปมากกว่าคุณ


3. คุณไม่ต้องรวย ไม่ต้องมีคนรับใช้ ไม่ต้องอดทนเป็นเลิศเหมือนแม่ชีเทเรซ่า 

    ไม่ต้องจบครุศาสตร์ก็โฮมสคูลลูกได้ 

4. พ่อแม่ ญาติ เพื่อนฝูงจะแวะมาดูอยู่รอบๆ แน่นอน และวันนึง คุณจะแปลกใจเมื่อคนที่เคยคัดค้านกลายเป็น คนที่ชื่นชมในสิ่งที่คุณทำให้ลูก 


5. เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาจะไม่มาเคาะประตูบ้าน และแจ้งจับข้อหาสอนลูกที่บ้านหรอก ค่อยๆ จัดการเรื่องเอกสารและกฏหมายไปตามวิถึทาง อย่าเครียด


6. ความสนใจ ใส่ใจแบบตัวต่อตัวที่ลูกได้รับ แม้จะวันละ 1-2 ชั่วโมง หรือ คราวละหลายนาทีตลอดวัน มีค่าและความหมายไกลกว่า การเรียนทั้งวันที่โรงเรียนของลูก


7. ถ้าลูกเรียนกับติวเตอร์ คอร์สออนไลน์ หรือ เข้าโรงเรียนสอนพิเศษบ้างเมื่อโฮมสคูล คุณก็จะเห็นว่า เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพราะเขาจะแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ให้คุณฟัง เตรียมตัวเป็นหุ้นส่วนสำคัญในชีวิตลูกนะคะ 


8. เด็กที่เคยโฮมสคูลมีมากมายทั่วโลก และตอนนี้ พวกเขาก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อย่าห่วงเลย แม้แต่เด็กที่ไม่เคยเข้ารั้วโรงเรียนเลยในชีวิต ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและประสบความสำเร็จได้โฮมสคูลไม่ใช่ตัวเลือกที่แย่เลยซักนิดค่ะ :) 







                            

เครดิต: เรียบเรียงจากหนังสือ Homeschooling For Success 

     
                 

Tuesday, July 5, 2016

คำถาม เรื่องโฮมสคูล ตอนที่ 2



        ถ้า คุณมีคำถาม หรือ ยังลังเล เรื่อง โฮมสคูล แล้วละก็ ควรจำไว้ว่า

มีคนที่เป็นเหมือนคุณมากมาย.....และต่อไปนี้ คือ
          
              คำถาม คำตอบที่พบบ่อยเรื่อง หลักสูตร



คำถาม    เราจะรู้ได้ยังไงว่าต้องสอนอะไรบ้าง และ สอนเมื่อไหร่

คำตอบ   สิ่งที่ต้องคิดถึงก่อน ก็คือ คุณวาดอนาคตไว้อย่างไร เช่น ถ้าไม่คิดที่จะกลับเข้าระบบโรงเรียนปกติแล้วละก็ ( หมายถึง ประถมจนจบมัธยม ) จะสอนอะไร เมื่อไหร่ ไม่ใช่สิ่งที่ควรกังวล เป้าหมายที่ต้องทำ คือ สร้างการเรียนรู้ให้เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า สนุก น่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้เด็กรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตตังหาก

แต่ถ้าคุณมองว่า อาจจะกลับเข้าระบบโรงเรียน คำถามที่ต้องคิด ก็คือ โรงเรียนแบบไหน?
โรงเรียนรัฐบาล   เอกชน   สองภาษา  นานาชาติ หรือ ไปต่างประเทศ รวมถึงสไตล์ด้วย มอนเตสเซอร์รี่ วอลดอร์ฟ?  เพราะหลักสูตรที่โรงเรียนแต่ละแบบสอนก็ต่างกัน เมื่อคุณมีภาพคร่าวๆ ก็ค่อยไปค้นข้อมูลดูเพื่อเป็นแนวทางสอนลูกต่อไป



คำถาม    จำเป็นไหมที่เราต้องใช้หลักสูตร

คำตอบ    ใช่และไม่ใช่  การโฮมสคูลมีหลากหลายแบบขึ้นกับสไตล์และวิถีชีวิตที่เหมาะกับแต่ละครอบครัว บางครอบครัวชอบที่จะเลือกใช้หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง เพราะรู้สึกว่ามีแนวทางให้ตามและเช็คความก้าวหน้าได้ รวมถึงบางหลักสูตรจะมีข้อสอบให้วัดระดับ แต่บางครอบครัวก็ไม่ชอบใช้เพราะรู้สึกว่า ทำให้เกิดข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม มีหลายครอบครัวที่เริ่มต้นด้วยหลักสูตรเพื่อสร้างความมั่นใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่ก็มีความมั่นใจที่จะสอนเอง อาจจะเพราะเริ่มเห็นว่า ลูกมีความถนัด ความสนใจ รวมถึงสไตล์การเรียนรู้แบบไหนนั่นเอง ไม่มีอะไรดีกว่า ดูว่าอะไรที่เหมาะสมกว่าเท่านั้นเอง

สิ่งที่สำคัญที่คนมองข้าม คือ ไม่ว่าจะใช้หลักสูตรหรือไม่ก็ตาม คุณควรสังเกตสไตล์การเรียนรู้ของลูกว่า เป็นแบบไหน เช่น ถ้าเด็กมีแนวโน้มเป็น Visual Learner แต่คุณใช้สื่อที่เป็นเสียงก็อาจจะไม่ช่วย เวลาและการสังเกตจะช่วยแนะแนวทางให้คุณเลือกสื่อที่เหมาะเอง ใจเย็นๆ






คำถาม   ถ้ามีลูกมากกว่า 1 คน จะสอนยังไงดี

คำตอบ   ก่อนอื่นต้องเปลี่ยนคำว่า สอน (teach) ให้เป็น อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ (facilitate) ซึ่งบทบาทต่างกัน การเป็นผู้อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ คุณไม่ต้องสอน แต่มีหน้าที่ จัดเตรียมบรรยากาศการเรียนรู้ อุปกรณ์ สื่อต่างๆ เกมส์ ให้เด็กๆ เรียนรู้ด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด คุณเป็นเพียงคนแนะแนวทาง ช่วยตอบคำถาม หาหนังสือ จัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้เด็กๆ ทำกิจกรรมด้วยกัน และ เรียนรู้จากกันและกันได้

ถ้ามีลูกคนนึงที่โตกว่า ก็อาจจะให้มีเวลาอ่านนิทานให้น้องเล็กฟัง จัดกิจกรรมที่เป็นไปในทางเดียวกันได้ด้วย เช่น เวลาอ่าน เด็กๆ สามารถอ่านหนังสือที่ชอบเองได้ เป็นต้น



คำถาม   จะโฮมสคูลเด็กพิเศษหรือเด็กไอคิวสูงมากได้ไหม

คำตอบ   จริงๆ แล้วโฮมสคูลเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดกับเด็กกลุ่มนี้ เด็กพิเศษ รวมไปถึงเด็กพิการทางสายตา การได้ยินและอื่นๆ ซึ่งการสอนเองที่บ้านเป็นการสอนตัวต่อตัว เด็กสามารถมีเวลาค่อยๆ พัฒนาทักษะต่างๆที่จำเป็นได้โดยไม่เครียด มีครอบครัวที่สอนอักษรเบรลให้ลูกเอง หรือเด็กไอคิวสูงก็มีเวลาได้ศึกษาลงลึกในสิ่งที่สนใจได้จริงๆ เต็มที่ เด็กบางคนเรียนบางวิชาในระดับสูงกว่าอายุมากๆ ได้และไม่ต้องรอจนถึงเกรดไหนก่อนแล้วค่อยได้เรียน เด็กไอคิวสูงมากๆในระบบโรงเรียน หากครูไม่ใส่ใจจริงแล้ว ก็จะเบื่อที่ต้องเรียนเรื่องที่ทำได้แล้ว



คำถาม  อยากโฮมสคูลมากแต่จะบอกสามี/ภรรยา หรือ ญาติที่ไม่เห็นด้วยอย่างไร

คำตอบ  การบอกคนที่ไม่เห็นด้วย หรือ ไม่รู้เรื่องโฮมสคูล บางครั้งก็เหมือนการโยนระเบิดต่อหน้าตัวเอง คุณจะโดนคำถามมากมายแน่นอนทั้งจากญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนบ้าน
สิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันได้ คือ ความรู้ หาหนังสือ บทความต่างๆ เกี่ยวกับโฮมสคูลมาอ่านให้มากที่สุด หากลุ่มคนที่โฮมสคูล พูดคุยแลกเปลี่ยน เพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง





คนเรามักจะกลัวสิ่งที่เราไม่รู้จักเสมอ คุณมีหน้าที่อธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงอยากทำ ข้อดีรวมถึงสถิติต่างๆ ถ้าเป็นไปได้ พาสามี/ภรรยาหรือญาติไปพบปะกลุ่มโฮมสคูลดูก็จะดี แต่ถ้าทำทุกวิธีแล้ว คุณอาจจะขอเวลาเพื่อทดลองสักแค่ระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1 ปี แล้วค่อยประเมินความสุขของลูกและความมั่นใจของตัวเอง   การทดลองเช่นนี้จะลดความเครียดของคุณได้ด้วย

และถ้าลูกเองก็ยังไม่แน่ใจ การพูดคุยกันแบบตรงไปตรงมากับเด็กเป็นวิธีที่ดีที่สุด พูดกับลูกถึงวิธีคิดของคุณ ฟังสิ่งที่ลูกคิดและช่วยกันหาวิธีการเรียนที่ลูกจะสนุก เพราะเป้าหมายก็คือ การได้รับความร่วมมือจากลูกเพื่อให้เค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

         การทำโฮมสคูล คนที่สำคัญที่สุดคือ ลูกของคุณเอง หาใช่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านไม่
   
         เมื่อคนเข้าใจ บางครั้งคนที่เคยต่อต้าน กลับกลายเป็นผู้สนับสนุนโฮมสคูลที่ดีก็มีเหมือนกัน



คำถาม   เด็กที่เรียนโฮมสคูลจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้หรือไหม


คำตอบ  ในอเมริกา แคนาดาและอีกหลายประเทศ ใช้เกณฑ์ที่เป็นข้อสอบชื่อต่างๆกัน เช่น SAT, ACT และมีการสัมภาษณ์ก่อนรับ ดูแฟ้มประวัติ จากสถิติเด็กโฮมสคูลสอบวัดระดับได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเด็กทั่วไป แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยมองหากลับเป็นวุฒิภาวะ ความรับผิดชอบ ความสนใจและ Portfolio หรือแฟ้มสะสมงานต่างๆ รวมถึง การเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเด็กที่โฮมสคูลมักจะมีองค์ประกอบเหล่านี้สุงกว่าเด็กในระบบโรงเรียน สิ่งที่ควรทำเก็บไว้ก็คือ แฟ้มสะสมงานที่ลูกสนใจทำ เช่น งานศิลปะ ภาพถ่าย บทความ เรื่องสั้น ดนตรี กีฬาและอื่นๆ


ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องตัวอย่าง โฮมสคูลแต่ละแบบและตารางการโฮมสคูลแต่ละวันค่ะ


เครดิต : Homeschooling For Success