จากช่วงสำรวจการโฮมสคูลตอนที่แล้ว มาตอนนี้เริ่มสำรวจลึกลงไปอีกว่า
ตกลงสไตล์ของ HS นี้มันมีกี่แบบกันแน่ และแต่ละแบบต่างกันอย่างไร
อ่านแล้วอาจจะได้เห็นแนวทางที่ใช่ หรือ อาจจะเข้าใจแนวทางของตัวเองเพิ่มขึ้นได้ค่ะ
แบบแรก คือ School-at-Home คือ แบบที่คนนึกภาพทั่วไปนั่นเอง ใช้บ้านเป็นที่เรียน มีหลักสูตรที่ใช้ อุปกรณ์การเรียนครบครัน มีตำรา มีตาราง มีการสอบและเก็บข้อมูล บางครอบครัวซื้อหลักสูตรมาแต่บางคนก็ทำแผนการสอนและเลือกหนังสือ สื่อการสอนแบบที่ถนัด ข้อดีคือ ควบคุมได้ว่าจะสอนอะไร เมื่อไหร่ ข้อด้อย คือ วิธีเรียนแบบนี้คนจัดการเหนื่อยหน่อย เพราะบางบทเรียนเนื้อหาก็ไม่น่าสนุก
แบบที่ 2 คือ Unit Studies หรือภาษาไทยเรียกว่าเรียนเป็นโครงงาน แต่เด็กเป็นคนเลือกหัวข้อโครงงานเองตามความสนใจ พ่อแม่อาจมีนำเสนอบ้างแล้วให้เด็กเลือก เช่น สนใจแมลง บทเรียนทุกวิชาก็ผูกจากเรื่องแมลง เลข ภาษา วิทย์ สังคม และอื่นๆ ข้อดีคือว่า คนเราจะเรียนรู้ได้ดีถ้าเป็นเรื่องที่สนใจ ข้อด้อยก็คือ บางทีพ่อแม่ลุ้นเกิน ลูกแสดงความสนใจอะไรไม่ได้ จับมาเป็นความรู้หมด เด็กก็แอบเกร็งเพราะแค่อยากเล่น ไม่ได้อยากเรียนเป็นเรื่องเป็นราว
แบบที่ 3 คือ Relax/Eclectic Homeschooling หมายถึง พวกจับนั่นผสมนี่ ไม่เครียด ใช้หนังสือแบบฝีกหัดเลข อ่าน สะกดคำ แต่วิชาอื่นก็อาจจะปล่อยให้เรียนรู้เองแบบเดียวกับ unschool ข้อดี คือ ให้อิสระพ่อแม่เลือกหนังสือตำราที่ชอบ ทัศนศึกษาหรือชั้นเรียนนอกบ้านตามถนัด ข้อเสียไม่มีเพราะชื่อบอกแล้วว่า Relax!
แบบที่ 4 คือ unschooling สไตล์นี้มีนิยามว่า ให้ธรรมชาติของเด็กและความสนใจนำพาไป เรียนจากชีวิตประจำวัน ไม่มีตาราง เรียนแนวเดียวกับผู้ใหญ่ คือ สนใจก็ลงมือค้นคว้า ศึกษา ทำให้เชี่ยวชาญ John Holt อธิบายว่า การใช้ชีวิตกับการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แยกกัน การบอกว่าเด็กต้องอยู่ตรงนั้นเพื่อเรียน อยู่ตรงนี้เพื่อใช้ชีวิต ก็คงไม่ใช่ เพราะเด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
คนที่เลือกสไตล์นี้ มีความเชื่อมั่นในการให้อิสระกับเด็ก เชื่อว่าเด็กมีความสามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้ของตัวเองได้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ฝืน ในกลุ่มที่ใช้สไตล์นี้เองก็มีแตกไปอีก เช่น บางคนเพียงไม่ใช้หลักสูตรอะไรเลย บางคนก็เรียนจากการใช้ชีวิตประจำวัน แต่คนเขียนให้นิยามว่า มันคือการให้เด็กเป็นคนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตัวเอง และเรียนจากสิ่งรอบตัว มุ่งที่ตัวเองสนใจและความถนัด อิสระที่จะเรียนรู้
ข้อดี คือ เด็กได้เลือกหัวข้อ สิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดได้ มีเวลาพัฒนาต่อยอดได้ ข้อด้อย คือ ถ้าเด็กจะต้องสอบหรือกลับเข้าเรียนในระบบ จะปรับตัว
ได้ยาก
แบบที่ 5 Classical School เริ่มตั้งแต่สมัยยุคกลาง มุ่งสอนให้เด็กรู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเอง และมีเครื่องมือการเรียนรู้ 5 อย่าง ได้แก่ การใช้เหตุผล บันทึก วิจัย เชื่อมโยงและสื่อสาร แบ่งการเรียนรู้เป็นขั้นๆ ในทุกวิชา เช่น เด็กเล็ก ก็เรียนรู้พวกพื้นฐานอ่าน เขียน ต่อมาก็ค่อยเริ่มศึกษาวิจัย ขั้นสูงสุดคือ การสื่อสาร อาจจะเป็นอภิปราย โน้มน้าว
แบบที่ 6 The Charlotte Mason Method เชื่อการเคารพในตัวเด็กและการเรียนรู้จากชีวิตจริง ตารางเรียนก็ให้มีเวลาเล่น สร้างสรรค์และเกี่ยวข้องกับสถานการณ์จริงที่เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ กลุ่มนี้จะพาลูกไปตามพิพิธภัณ เดินป่า ดูนก เรียกว่าเน้นเรียนจากของจริง
แบบที่ 7 The Work/Study/Service Method สไตล์นี้ผู้ริเริ่มคือ เรมอนด์และโดโรธี มัวร์ ซึ่งถือเป็นเจ้าปู่เจ้าย่าแห่งโฮมสคูล มีความเชื่อว่าตารางทุกวันจะต้องประกอบด้วยกิจกรรม 3 อย่าง คือ เรียนก่อนจะไม่กี่นาทีหรือหลายชม.แล้วแต่ จากนั้นทำกิจกรรมที่ใช้มือทำ ให้ใช้เวลาเท่ากับอย่างแรก สุดท้าย ออกไปรับใช้สังคม วันละอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง เด็กที่ทำตามสไตล์นี้โตขึ้นได้รับทุนเรียนต่อจากมหาวิทยาลัยชื่อดังมากมาย
แบบที่ 8 The Waldorf Method มาจาก Rudolf Steiner ให้ความสำคัญกับการศึกษาองค์รวม ร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เน้นศิลปะ ดนตรีและการเคลื่อนไหว รวมถึงธรรมชาติ เด็กโตจะเน้นการรู้จักตนเองและการหาเหตุุผลเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆเอง ไม่ใช้หนังสือตำราเรียน แต่ทำหนังสือเรียนเอง (เก๋ดีนะคะ) ไม่นิยมให้เด็กดูทีวีหรือคอมพิวเตอร์เนื่องจากเชื่อว่า เป็นอันตราย
แบบที่ 9 Montessori อันนี้ก็เป็นที่นิยมในกลุ่ม HS คล้ายๆ แบบที่ 8 เชื่อเรื่อง "การเรียนรู้ไม่มีคำว่า ผิด" เด็กเรียนตามความพร้อมของแต่ละคน ไม่เร่ง ไม่รีบ ค่อยพัฒนาไป เน้นห้องโล่งๆ ไม่มีของเยอะวุ่นวาย เน้นของธรรมชาติพวกตัวต่อไม้ และเน้นการเก็บเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่นิยมทีวีและคอมพิวเตอร์
ส่วนมากแล้ว สไตล์นี้เหมาะกับเด็กเล็ก แม้ว่าจะมีสื่อให้ใช้ถึงระดับมัธยมปลาย แต่พ่อแม่มักใช้กับเด็กเล็กมากกว่า
แบบที่ 10 Multiple Intelligence ความคิดเริ่มต้นโดย Howard Gardner จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดผู้โด่งดัง (อาจารย์ของหนูดี วนิษา เรซนั่นล่ะค่ะ) เชื่อว่า คนเรามีอัจฉริยภาพหลายด้านและแตกต่างกัน การเรียนรู้ที่ดีที่สุดมาจากการใช้จุดแข็งหรือด้านที่เราถนัด ไม่ใช่จุดอ่อน เมื่อปรับใช้กับ HS จึงหมายถึง การสังเกตจุดแข็ง สไตล์การเรียนรู้ของเด็กว่าเป็นแบบไหน แล้วจัดสื่อ วิธีการเรียน ตารางในแต่ละวันให้เข้ากับสิ่งนั้น เช่น บางคนเรียนรู้ได้ดีจากการใช้ร่างกาย สัมผัสจับ ขีดเขียน มากกว่าการอ่านหรือฟัง เช่่น ลูกชายของคนเขียน ก็จะชอบวาดรูป เล่นตัวต่อไปด้วยและฟังซีดีเล่านิทาน ต่างกับลูกสาวซึ่งถนัดการอ่านและแสดงความเห็นด้วยการเขียน เป็นต้น
Credit: Homeschooling for Success
No comments:
Post a Comment